User-agent: * Allow: / นิทานเซน Zentale

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

สูตรสำเร็จ




"ทางตะวันออกหรือเอเชียเรา ไม่เน้นที่สูตรสำเร็จ ไม่คิดว่าจะมีสูตรสำเร็จตายตัวใดๆ ในการแก้ปัญหา "

ท่านอาจารย์โตสุย เป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่สมัยหนึ่ง ท่านเคยไปพำนักเพื่อทำการสอนศิษย์อยู่ในวัดตามมณฑลต่างๆเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ท่านประจำอยู่ในวัดสุดท้ายนั้น ท่านมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก แต่ต่อมาวันหนึ่งท่านบอกลูกศิษย์ของท่านว่า ท่านจะเลิกทำการสอนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ส่วนลูกศิษย์นั้น ผู้ใดมีความประสงค์จะไปอยู่กับอาจารย์อื่น ณ แห่งใด ก็อาจไปได้ตามใจชอบ

ต่อจากนั้นท่านก็เดินทางจากไปโดยไม่มีใครพบเห็นท่านอีก



3 ปีต่อมา ได้ยินศิษย์ของท่านคนหนึ่ง ไปพบท่านอาจารย์โตสุยร่วมพักอยู่กับขอทานที่ใต้สะพานแห่งหนึ่งในเมืองเกียวโต ศิษย์ผู้นั้นจึงเข้าไปกราบ และขอให้ท่านอาจารย์ทำการสอนตนอีก อาจารย์โตสุยได้กล่าวว่า " ถ้าเจ้าสามารถจะทำได้เหมือนข้าสัก2วัน ข้าจะสอนเจ้า "

ศิษย์ผู้นั้นตอบตกลง และเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นคนขอทานแล้วพักรวมอยู่กับอาจารย์ ณ ใต้สะพานแห่งนั้น วันุร่งขึ้นขอทานคนหนึ่งได้ตายลง อาจารย์โตสุยและลูกศิษย์จึงช่วยกันหามศพนั้นไปฝังไว้ที่เชิงเขาแห่งหนึ่งในกลางดึกของวันนั้น แล้วทั้งสองก็กลับมายังที่พัก

ท่านอาจารย์โตสุยนอนหลับสบาย แต่ลูกศิษย์นั้นไม่สามารถจะหลับได้เลยแม้งีบเดียว พอรุ่งเช้าท่านอาจารย์โตสุยได้กล่าวแก่ศิษย์ว่า"วันนี้เราไม่ต้องออกไปขออาหารหรอก เพราะยังมีของที่เพื่อนที่ตายของเราเหลืออยู่พอ" ว่าแล้วท่านอาจารย์ก็นำอาหารนั้นมารับประทานอย่างเอร็ดอร่อย แต่ศิษย์คนนั้นไม่สามารถที่จะรับประทานอาหารนั้นได้เลยแม้แต่นิดเดียว ท่านอาจารย์โตสุยได้สังเกตเห็นอาการเหล่านั้นของลูกศิษย์จึงพูดขึ้นว่า

"ข้าได้ว่าไว้แล้วว่า เจ้าไม่อาจทำอย่างข้าได้" ท่านโตสุยกล่าวสรุป
"ฉะนั้น เจ้าจงหลีกไปให้พ้นเถิดและอย่ากลับมารบกวนข้าอีกเป็นอันขาด"




ที่มา :ละเอียด ศิลาน้อย.อยู่อย่างเซน.พิมพ์ครั้งที่8:สำนักพิมพ์ดอกหญ้า2000,กรุงเทพมหานคร; 2544


ข้อความหลังจากนี้เป็นสิ่งที่เจ้าของบล็อคเขียนขึ้นเองโดยอาศัยเนื้อหาที่มาจากหนังสืออ้างอิงเล่มที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงความคิดเห็นเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับนิทาน หรือหัวข้อ หากมิสิ่งไหนผิดพลาดประการใด เจ้าของบล็อคต้องยอมรับไว้แต่เพียงผู้เดียวด้วยความเคารพ

จากเรื่องนี้ แสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของเซน ที่ว่า เซน ไม่มีหลักการที่แน่นอนตายตัว ไม่ใช่ 1+1 จะต้องเป็น 2 เสมอไป แต่การเข้าไปศึกษาเซนนั้น จำเป็นจะต้องมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละตัวบุคคล การที่คนๆหนึ่งทำแบบนี้แล้วบรรลุถึงแก่นแท้แห่งธรรม ก็ใช่ว่าเมื่อเราลองทำตามอย่างเขาแล้ว เราจะได้บรรลุธรรมเฉกเช่นเขาผู้นั้น

ในที่นี้ ผู้เขียนไม่บังอาจเขียนเปรียบเทียบในวิธีการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมใดๆเลยแม้แต่น้อย เพราะตัวผู้เขียนเองยอมรับว่า ยังเป็นคนที่มีอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง ชอบทานอาหารอร่อยๆ ชอบเสื้อผ้าสวยๆ และชอบดมกลิ่นหอม รวมทั้งชอบที่จะฟังเพลง



แต่เมื่อกล่าวถึงเรื่องของ สูตรสำเร็จแล้ว ผู้เขียนเองขอพูดถึงสิ่งที่ผู้เขียนได้มีความรู้อยู่บ้าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่วิเศษอะไรเลย แต่เป็นเรื่องของคนธรรมดา ก็ึคือ ความรู้ในการใช้ชีวิตเป็นคนปกติ ที่ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แม้หลังจากที่ชีวิตประสบความล้มเหลวอย่างย่อยยับอาจถึงขั้นที่ว่า กลายเป็นคนหมดอนาคต ทั้งๆที่เคยวาดหวังไว้ว่า อนาคตจะสวยงามมากเพียงใด

แต่ทุกอย่างก็พังครืนลงมา ผู้เขียนเองประคองสติแทบไม่ค่อยอยู่ ทุกวันนี้ก็ไม่รู้ว่ายังอยู่ในสภาวะไร้สติหรือไม่ (ไม่ค่อยแน่ใจตัวเอง) แต่ด้วยความรักที่แสนจะบริสุทธิ์จากครอบครัวที่อบอุ่นและคนรอบข้าง ที่ไม่เคยตำหนิผู้เขียนเองเลยแม้แต่น้อย มีแต่คอยให้้กำลังใจและคอยปลอบโยน ทำให้ผู้เขียนกลายเป็นคนที่สามารถที่จะหยัดยืนอยู่ในสังคมต่อได้ แม้ว่า เบื่อที่จะต้องตอบคำถามกับบรรดาญาติๆ

ในสมัยที่เรียนหนังสือตั้งแต่ประถมจนถถึงมัธยมศึกษา ผู้เขียนเองเป็นคนที่เรียนดี ได้เกรดเฉลี่ยที่ค่อนข้างดี ถือว่า ไม่เคยน้อยหน้าใคร สอบแข่งขันชิงทุนอะไร ก็ได้ติดไม้ติดมือกลับมาทุกครั้ง ทำให้เกิดความลำพองใจว่า เราเป็นคนเก่ง และในสังคมที่ผู้เขียนอยู่นั้น คนเก่งจะต้องทำงานเป็น แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ วิศวกร อะไรทำนองนั้น เพื่อที่จะพิสูจน์ว่า ตัวเองนั้นเก่งจริง ไม่ใช่เก่งแบบลอกเขามา



ด้วยความที่คิดตามกระแสสังคมบวกกับความหลงว่า ตัวเองคือผู้รู้ คนเก่ง ทำให้ผู้เีขียนลืมมองไปว่า เพราะอะไรที่ทำให้ผู้เขียนนั้น ได้เกรดเฉลี่ย ที่สูง และค่อนข้างน่าพอใจเป็นอย่้างยิ่ง คิดแต่เพียงว่า เก่งแล้วต้องเป็นหมอเท่านั้น พ่อแม่จะได้ภูมิใจ เพราะในสังคมไทย ลูกใครได้เป็นหมอ ก็ยืดอกได้เต็มที่เลย เรียกได้ว่า เป็นอภิชาติบุตร

เกรดเฉลี่ยที่สูงนี้ทำให้ผู้เขียนได้สิทธิ์เข้าสอบตรงในคณะแพทย์ศาสตร์หลายสถาบัน และผลก็คือ ไม่ติดสักแห่ง แต่กระนั้นก็ยังไม่ละความพยายาม ผู้เขียนยังเบนเข็มไปสอบคณะที่ัยังอยู่ในโรงพยาบาลนั่น จนกระทั่งสอบเข้าไปเรียนได้

โดยคะแนนที่คำให้เข้าไปเรียนได้นั้น คือ ภาษาไทย สังคม ภาษาอังกฤษ ที่ได้คะแนนเฉลี่ยคิดเป็น% ได้สูงพอที่จะดึงคะแนนในสายวิทย์ เข้าไปเรียนเป็นอันดับต้นๆของชั้นปีได้

เมื่อเข้าไปเรยีนแล้ว การเรียนในชั้นปีที่1ยังไม่มีอะไรมาก แต่เมื่อเข้าชั้นปีที่2เป็นต้นไป ผู้เขียนได้รั้งตำแหน่ง เจ้าแม่ท้ายตาราง จนได้ตกอันดับ ไปเตะในลีกอื่น เอ้ย ไปเรียนต่อกับรุ่นน้อง และรุ่นน้อง และรุ่นน้องกี่รุ่นไม่รู้ขออนุญาตไม่นับให้ชอกช้ำหัวใจ

 เมื่อคนเราเรียนไม่รู้เรื่องแล้ว ก็จะไม่อยากเข้าเรียน มองเห็นคณะเป็นเหมือนสถานที่อโคจร และ ต้องขอบอกไว้เลยว่า ความผิดในครั้งนี้ ผู้เขียนไม่ขอโทษใครเลยนอกจากตัวผู้เีขียนเอง เพราะว่า ผู้เขียนยังมีความมั่นใจว่า หากผู้เีขียนได้พยายามมากกว่านี้สักนิดเดียว เรื่องแบบนี้ก็ึคงไม่เกิดขึ้นกับชีวิต

สุดท้ายแล้วเพื่อไม่ให้รู้สึกผิดจนเกินไป ผู้เขียนขออนุญาต โทษชะตาชีวิต และจังหวะัของชีวิต นอกจากโทษตัวเองเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจทำให้ผู้เขียนตกอยู่ในภาวะไม่ปกติอีกครั้ง



เอาล่ะ รู้สึกว่าจะออกมาจากเรื่องของสูตรสำเร็จมากเกินไปเสียแล้ว คราวนี้ วกเข้ามาหา สูตรสำเร็จ เสียบ้าง ชีวิตที่ต้องทำให้พ่อกับแม่ร้องให้นั้น ส่วนหนึ่ง ผู้เขียนขออนุญาตโทษกระแสสังคม

กระแสของสังคมไทย ที่บอกว่า คนเก่งต้องเป็นหมอ และ กระแสสังคมไำทย ที่มองว่าา คนเรียนสายวิทย์ไม่ได้เท่านั้นจึงจะไปเรียนสายศิลป์(กระแสเหล่านี้ไม่ได้มีในทุกคน แต่ผู้เขียนถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เล็กๆแบบนั้นจริงๆ)

หากผู้เขียนมองตัวเองว่า มีความถนัดในวิชาอะไร มากกว่าที่จะมองว่า คนเก่งเขาทำงานอะไร เขาเรียนอะไร คนที่ทำให้พ่อแม่ภูมิใจได้นั้น ต้องประกอบวิชาชีพอะไร แต่ให้มองสิ่งที่ตัวเองชอบ และทำได้ดี มองให้เห็นว่า ตัวเองเป็นคนขยันมากแค่ไหน ชีวิตก็คงไม่ใช่แบบนี้

ต้องขอแวะมาเรื่องการเรียนในสายวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกครั้งว่า ผู้เขียนต้องยอมรับ คนที่สามารถเรียนจนจบตามปกติจริงๆว่า นอกจากจะเก่งมากแล้ว ยังมีความอดทน พยายาม และถึกเป็นอย่างมาก ไม่งั้นไม่ไหวค่ะ ถ้าพูดกันตอนนี้ ก็ต้องขอบอกว่า นับถือพวกเขาเหล่านั้นมากจริงๆ

ตัวผู้เขียน มีนิสัยเกียจคร้าน นอนดึก ตื่นสาย ชอบทำอะไรตามใจตัวเอง ไร้วินัย เอาแต่ใจ สกปรก ทำงานตามสั่งไม่ได้ ทำได้แต่ตามใจ ยังบังอาจไปคิดกล้าเรียนสายนี้อีก ทั้งๆที่หากไม่มองที่สูตรสำเร็จของค่านิยมในสังคมแล้วเนี่ย นิสัยแบบนี้ ต้องเรียนสายศิลป์ชัดๆ ก็ยังมั่นใจในความสามารถ และคิดไปว่า เรียนสายนั้นมาจะทำงานอะไร ไม่มองให้ไกลเลยว่า งานมีเยอะแยะสำหรับคนที่มีความสามารถ สุดท้ายชีวิตก็ย่อยยับไปด้วยน้ำมือของความเชื่อมั่นที่มีเยอะเกินไปของตัวเอง



นี่เป็นแค่ตัวอย่างเดียวของการหลงเชื่อในสูตรสำเร็จ ที่ส่งผลทำให้ชีวิตของผู้เขียนเสียหายยับเยินต้องมาพบเจอกับการรู้สึกว่าตัวเองทำให้พ่อแม่ผิดหวัง ทั้งที่ความตั้งใจที่แท้จริงที่ได้ตัดสินใจเรียนในทางนี้ก็เพราะพ่อแม่ทั้งนั้น

หากย้อนเวลากลับได้ ก็อยากให้รู้ตัวเองสักนิด ว่าต้องการสิ่งใดกันแ่น่ในชีวิต แต่นั่นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ตอนนี้จึงได้แต่เตือนตัวเองว่า สิ่งที่คิดว่าดีสำหรับคนอื่นนั้น สำหรับตัวเราเองอาจจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายมากที่สุดก็ได้ และ การทำให้พ่อแม่ภูมิใจ ไม่จำเป็ฯจะต้องเป็นหมอเพียงแค่อย่างเดียวเท่านั้น แต่การเป็นคนที่เข้มแข็งพอ สามารถอยู่ได้ในทุกสถานการณ์ มีความรู้ความสามารถพอที่จะประกอบชีวิต หรือมีความคิดริเริ่มที่จะกระทำการใดๆได้โดยที่ไม่ต้องมีความเสี่ยงมากนัก และสุดท้ายแล้ว การที่เราสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขต่างหากคือสิ่งที่ำพ่อแม่ต้องการจากลูกอย่างแท้จริง

เพราะสุดท้ายแล้ว ชีวิตคนไม่สามารถถูกกำหนดได้ด้วยสูตรตายตัวแต่เพียงอย่างเดียว การทำตามสูตรที่ยึดถือกันมาอยา่งช้านานใช่ว่าจะต้องประสบผลสำเร็จเสมอไป แต่การรู้จักมองตนอย่างเข้าใจ พร้อมกับรู้จักปรับตัวเองเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทีี่ได้เข้าไปอยู่

เพื่อให้อยู่อย่างมีความสุขเรื่อยๆ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในตนเองจนเกินไป แต่ไม่ใช่ยอมตามกระแสสังคมไปทุกอย่าง หากแต่รู้จักคิดพิจารณาถึงความถ่องแท้ ที่แล้วแต่ว่าจะคิดไปอย่างไร แล้วนำไปใช้ นั่นถึงจะทำให้สามารถดำรงชีวิตได้ อย่างมีความสุขที่แท้จริง

วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

ผิด..บาป..ที่ใคร





     ศิษย์และอาจารย์เดินผ่านท่าน้ำริมทะเล เห็นชาวเรือกำลังจะนำเรือออกจากท่าเพื่อที่จะไปส่งผู้โดยสาร  หลังจากเรือลงน้ำไปแล้ว   ที่ชายหาดมี กุ้ง หอย ปู ปลา โดนทับตายเป็นจำนวนมาก   ทำให้เห็นแล้ว รู้สึกน่าสงสารยิ่งนัก

ลูกศิษย์  :   ขณะที่ชาวเรือนำเรือออกไปนั้น ทำให้ กุ้ง หอย ปู ปลาแถวนั้นตายไปไม่น้อย ขอถามหน่อยว่า เป็นความผิดบาปของชาวเรือหรือผู้โดยสาร

พระอาจารย์  :  ไม่ได้เป็นบาปของชาวเรือ และไม่ได้เป็นบาปของผู้โดยสาร

ลูกศิษย์  :  ถ้าไม่ได้เป็นบาปของทั้งสองฝ่าย แล้วจะเป็นบาปของใคร

พระอาจารย์  :  ก็เป็นของเจ้านะซี

พระอาจารย์พูดต่อว่า “ พุทธศาสนาแม้จะพูดถึงวัฏสงสาร แต่ในแง่ของคน เมื่อพูดในฐานะเป็นมนุษย์ เรื่องราวบางอย่าง บางครั้งก็ไม่สามารถพูดให้ชัดแจ้งลงไปได้ ชาวเรือประกอบอาชีพนี้เพื่อหาเงินเลี้ยงปากท้อง ผู้โดยสารจำเป็นต้องขึ้นเรือ เพราะต้องเดินทาง กุ้ง ปู โดนเรือกดทับ เพราะซ่อนตัวอยู่ในทราย นี่เป็นความผิดใคร ?

         กรรมเกิดจากจิต จิตไม่มี กรรมก็ไม่มี
         จิตไม่มี จะสร้างกรรมได้อย่างไร
         แม้จะมีบาปกรรม ก็เป็นบาปที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ

         แต่เจ้า สิ่งที่ไม่มีสร้างให้มี
         สร้างผิดถูกขึ้นมาเอง
         แล้วนี่จะไม่ใช่ผิดบาปที่เจ้าหรอกหรือ

ที่มา :  http://www.thummada.com/cgi-bin/iB315/ikonboard.pl?act=ST;f=4;t=1843;st=10



จากด้านล่างเป็นต้นไป เป็นเรื่องที่ผู้เขียนบล็อค เขียนตามความเข้าใจของตนเอง ผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

ผิดบาปเป็นของใคร นิทานเซนเรื่องนี้ ในสายตาของผู้เขียนแล้ว ค่อนข้างจะอันตรายต่อคนอ่านเป็นอย่างยิ่ง และอาจอันตรายต่อสังคม หากเพียงแต่คิดที่จะนำเรื่องที่ได้จากแนวคิดในเรื่องนี้ ว่า หากเราไม่ใส่ใจว่ามันคือบาป มันก็จะไม่เป็นบาป และย่อมไม่เกิดความทุกข์ทรมานแก่ใจได้เลยแม้แต่เล็กน้อย

หากคิดเช่นนี้แล้ว นิทานเรื่องนี้ ย่อมทำให้ผู้อ่านที่มีจิตใจหรือแนวคิดและการกระทำที่ค่อนข้างเป็นอันตรายต่อผู้อื่น สามารถกล้าทีั่จะกระทำการร้าย และหลังจากกระทำการที่เลวร้ายแล้ว ก็ยังสามารถอยู่ได้อย่างปกติสุข เพราะว่า ไม่ถือเอาการกระทำที่เลวร้ายนั้น มาใส่ใจ และไม่สนใจผลที่เกิดจากการกระทำของตนด้วย



ซึ่งหากมองที่ตรงแง่นี้แล้ว ก็ต้องบอกกันอย่างผิดหลักเซน ว่า เป็นการสรุปและทำตามอย่างโง่ๆ แถมยังเป็นกระทำที่ผิด ( เพราะเซนที่แท้จริงแล้ว ย่อมไม่มีถูกหรือผิด ทุกอย่างแล้วแต่ธรรมชาติจะทำให้เป็นไป) การที่ท่านอาจารย์ได้บอกลูกศิษย์ว่า หากมัวมาคิดว่า กุ้งหอยปูปลาที่ตายไปโดยไม่ได้นำมาใช้อาหาร จะทำให้บาป และยังเกิดความสงสัยจนทำให้อดไม่ได้ต้องถามอาจารย์ว่า บาปเหล่านั้นตกอยู่ที่ใคร

คำว่า บาป กับ ไม่บาป จากเรื่องนี้ จะถูกกั้นโดยเส้นบางๆ คือ ความคิดคำนึง เท่านั้น หากไม่คิด บาปก็จะไม่เป็นบาป และหากคิด แม้เรื่องที่ไม่ควรจะเป็นบาป ก็อาจกลายเป็นบาปได้ในที่สุด

แม้ว่าคิดได้เช่นนี้แล้ว ก็ต้องอย่าลืมที่จะเตือนตนเองอยู่เสมอว่า แม้นหากเราไม่คิดในเรื่องบางเรื่อง มันก็จะไม่กลายเป็นบาปก็จริงอยู่ แต่การวางเฉยกับการกระทำทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เกิดผลกระทบหรือความเสียหาย ต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือสังคมใดๆ ก็ย่อมกลายเป็นบาปเช่นกัน

ด้วยความเคารพ จากใจผู้เขียนที่ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากห้วงแห่งกิเลสได้

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

พระเซนถ่มน้ำลายใส่พระพุทธรูป



จากกระทู้ข้างต้นในเว็บบอร์ดพลังจิต ขอยกข้อความมาดังนี้ค่ะ

อ่านแล้วรู้สึกว่ากินใจมากๆ

จนต้องเอามาเตือนตนเองที่บล็อคนี้
เรื่องในกระทู้มาจาก ข่าวที่ว่า พระเซนถ่มน้ำลายใส่พระพุทธรูปค่ะ และในความที่เป็นเรื่องของเซนแล้ว ให้ถือว่า ทุกอย่าง คือความว่างเปล่า การกระทำใดๆ ก็เพื่อตัดจิตที่ผูกพันให้ตนเองมีชีวิตอยู่ในวังวนของการเกิด แก เจ็บ ตาย จึงไม่น่าจะถือว่า เป็นความผิด

ส่วนคุณ namaste  ได้ให้แนวคิดที่น่าสนใจไว้ดังนี้

หากทำด้วยเจตนา ย่อมไม่เรียกว่าถมใส่ความว่างเปล่า


หากไม่เข้าใจความว่างเปล่า
โปรดอย่าตีความหรือแอบอ้างความว่างเปล่า
เพราะนั่นคือการปรุงแต่ง
......................................................................................
เซนไม่เคยเถียงกับพุทธ พุทธไม่เคยเถียงกับเซน
เซนไม่เคยเรียกร้องเป็นพุทธ พุทธเองก็ไม่เคยบอกว่าเซนไม่ใช่พุทธะ
เซนไม่พูด พุทธไม่บอก
มีแต่คนเอามาพูด เอาเถียงกัน คนที่เถียงนั้นคือพุทธเหรอ เซนเหรอ ไม่ใช่สักคน

จะเซนหรือพุทธ ก็เป็นสมมติบัญญัติ ปรมัตินั้นอยู่ที่จิตใจ

หากเข้าถึงพุทธะ ก็เข้าถึงเซน

ยังไม่เคยเข้าสักนิด เถียงกันไปก็เปล่าประโยชน์

มีแต่คนที่ยึดว่าตัวเองเป็นเซน มีแต่คนที่ยึดว่าตัวเองเป็นพุทธ
แล้วก็มาเป็นเดือดเป็นร้อนเพราะคำว่าเซน คำว่าพุทธ

ทุ่มเถียงทะเลาะกัน ละเลยลืมดูกายใจตน

แล้วก็มาบอกว่านับถือพุทธหมดหัวใจ

ที่มา : http://board.palungjit.com/




จากตรงนี้เป็นต้นไปเป็นเรื่องที่เจ้าของบล็อคเขียนเองนะคะ ผิดถูกประการใด ขอน้อมรับทุกคำติชมค่ะ

เรื่องของเซน บางครั้งก็ยากแก่การเข้าถึง เพราะเซน ไม่มีคำสอนที่เป็นพระสูตรที่ตายตัว ไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆในการปฏิบัติ และเซน ยังไม่มีการบอกออกมาเป็นสูตรว่า ทำแบบใดจึงถูก หรือทำแบบใดจึงจะผิด เหมือนอย่างที่นิทานเรื่องก่อนๆ ที่เคยได้เล่าให้ฟัง(หรืออ่าน)ในบล็อคเก่าๆแล้ว เมื่อพระเซนรูปหนึ่งได้ให้ลูกศิษย์ทั้งหลาย อธิบายว่า เซนคืออะไร จากนิทานเรื่อง เซนเนื้อ เซนกระดูก ของท่านพุทธทาส



คำตอบที่แท้จริงในนิทานที่ถูกยกย่องว่า เข้าถึงเซนแบบรู้ลึกถึงขั้นซึมเข้าไปในกระดูกเลย คือการไม่ตอบหรืออธิบายคำพูดใดๆออกมาเลย แล้วยังกัดปาก เม้มฟันเสียแน่น เพื่อไม่ให้เกิดคำพูดใดๆหลุดออกมา

ซึ่งโดยที่จริงแล้ว การแสดงเช่นนี้ หากตีความในความหมายเชิงสัญลักษณ์ คงกล่าวได้ว่า เซน คือการไม่พูด ไม่อธิบาย ว่างเปล่า ไม่มีอะไรหลงเหลือ ซึ่ง สิ่งเหล่านี้ถามว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริงหรือไม่ และ เซน ที่ว่านี้ สามารถทำให้เราดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุข และมีความสุขในโลกนี้ได้หรือไม่

หากเราเป็นนักเรียน เมื่อจบการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชาแล้ว ย่อมจะต้องมีการทดสอบความรู้ที่เกิดขึ้น ว่า ได้รับความรู้ความเข้าใจไปได้ในระดับใด และผลการวัดเหล่านั้น สามารถแสดงออกมาได้ในรูปแบบของคะแนน พร้อมกับการจัดลำดับชั้นของคะแนนที่ได้รับว่า ดี ดีมาก ปานกลาง และอ่อน จนถึงขั้น ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ต้องปรับปรุง หรือที่เรียกกันให้ช้ำใจว่าสอบตกนี่เอง

ในทางโลกนั้น หากเราสอบตก ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินแล้ว ก็จะต้องทำการเรียนกันใหม่ หรืออาจจะให้เวลาเพื่อทำการสอบใหม่อีกครั้ง เพื่อที่จะทำให้ได้เตรียมตัวใหม่ ให้สอบผ่านได้



แต่การประเมินสิ่งใดๆในทางธรรมนั้น เขาวัดกันอย่างไร

ในที่นี้ผู้เขียนขออนุญาตไม่กล่าวถึงพุทธศาสนาที่มีในไทย แต่จะกล่าวถึง เซน
เซนไม่มีหลักธรรมที่ชัดเจน ไม่มีแนวทางการปฏิบัติ แต่จะให้คิดและนึกขึ้นเอง ดังนั้น เมื่อเป็นเซนแล้ว โอกาสที่จะทำผิดก็ย่อมสูงขึ้น นั่นเพราะหลงว่า ตนเองได้ปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องอันควร และบางราย อาจหลงเข้าไปจนถึงขั้นที่ว่า ตนเองได้บรรลุธรรมแล้ว

ยิ่งเขียนก็ยิ่งงง ตกลงแล้ว เซน ต้องการบอกอะไรแก่เรา หากไม่มีคำอธิบาย ไม่มีหลักการ มีแต่ความว่างเปล่า แล้ว สิ่งที่เซน ต้องการจะสอน หรือให้คนปฏิบัติคืออะไร

ถ้าหากถามผู้เขียนบล็อคในตอนนี้แล้ว ก็คงต้องบอกว่า เซนไม่ได้สอนอะไรเลย สิ่งที่เซนได้ให้แก่ผู้เขียนคือ การรู้จักนึก คิด และไตร่ตรอง ถึงเหตุผล และที่มาของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น และสุดท้ายแล้ว เซน ได้สอนให้ผู้เขียน สามารถดำรงชีวิตอย่างมนุษย์ปกติได้ในทุกสถานการณ์





หากไม่มีเซน ผู้เขียนเอง อาจไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้เลยแม้สักเล็กน้อย ถึงมีเซน ก็ยังควบคุมอารมณ์ไม่อยู่และกลายเป็นนางมารไปได้บ่อยๆ แต่สิ่งที่เซนให้ผู้เขียนอยางที่คิดได้อย่างชัดเจนที่สุด คือ เซนสอนให้ผู้เขียน ยอมรับในสิ่งที่ตนเป็นอย่างแช่มชื่น

เซนสอนให้ผู้เขียนรู้ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากเรายังมีร่างกายที่เข้มแข็ง มีจิตใจที่แข็งแรง เราก็จะยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ ถึงแม้ว่าปริ่มจะล้มเหลวไปมากกว่านี้มาหลายครั้ง เซนก็ได้ช่วยดึงกลับมา ซึ่งสิ่งที่เซนได้ให้ผู้เขียนนั้น ไม่สามารถอธิบายออกมาได้ด้วยคำพูด หรือภาพใดๆ

เซนได้เข้ามาให้ความว่างเปล่า ที่เป็นความว่างเปล่าที่ไม่วังเวงหรือเงียบงัน แต่เป็นความว่างเปล่าที่สงบ และมีความสุข ความว่างเปล่าท่ทำให้คนๆหนึ่ง คิดว่าตนเองมีค่ามากพอ ที่จะมอบสิ่งดีๆให้ผู้อื่นได้

สุดท้ายแล้ว ก็ยังกล่าวสรุปไปไม่ได้ ว่าเซน คืออะไร แต่เซน สำหรับผู้เขียนแล้ว นี่เป็นสิ่งที่ดีในชีวิตทำให้ผู้เขียน แข็งแกร่งยิ้มสู้ได้มากกว่าเดิมในทุกวันนี้ หลังจากร้องให้อ่อนแอตลอดเวลา วันนี้ เซนทำให้เราคนหนึ่ง กลายเป็นผู้กล้าและแกร่งมากพอ ที่จะต่อสู้กับความจริง

ร่วมทุกข์...ร่วมสุข

เมื่อสุขจงสุข และเมื่อทุกข์จงทุกข์ แล้วชีวิตจะไม่มีปัญหา



ท่านโสเอน ชากุ เป็นสมภารวัดเอนงากุหยิ แห่งเมืองกามากุระ และเป็นพระเซนชาวญี่ปุ่นองค์แรกที่เดินทางเข้าไปร่วมประชุมสภาสากลแห่งศาสนาของโลก ที่มลรัฐชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ.1893 และต่อมาได้ส่งลูกศิษย์ชื่อ ดี.ที.สุซูกิ ให้เดินทางไปเผยแพร่เซนแก่ชาวตะวันตก จนกระทั่งเซนเป็นที่รู้ัจักกันดีทั่วโลกในปัจจุบันนี้

ท่านโสเอน ซากุชอบใช้วเลาเดินในตอนเย็นๆ เดินเล่นไปตามหมู่บ้านในละแวกวัดของท่านเสมอๆ วันหนึ่งขณะที่ท่านเดินอยู่ ท่านก็ได้ยินเสียงร้องให้คร่ำครวญดังมาจากบ้านหลังหนึ่งใกล้ๆนั้น ท่านจึงเดินเข้าไปอย่างเงียบๆ และพบว่าเจ้าของบ้านนั้นได้ถึงแก่กรรมแล้ว



ขณะนั้น ครอบครัวของเขาและเพื่อนบ้านเขาต่างพากันร้องให้ด้วยความอาลัย ท่านซากุจึงนั่งลงเงียบๆและร่วมร้องให้ไปกับเขาด้วย ด้วยความจริงใจ

ท่านผู้เฒ่าคนหนึ่ง หันมาเห็นเข้าก็รู้สึกแปลกใจและตระหนักตกใจมาก ที่เห็นท่านอาจารย์เซฯ ผู้มีชื่อเสียงมาร่วมร้องให้ด้วยความเสียใจอยู่กับพวกเขาด้วย จึงได้พูดขึ้นว่า
" ผมคิดว่า อย่างน้อยที่สุด ท่านคงจะอยู่พ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว มิใช่หรือ " (เขาคิดว่าท่านซากุน่าจะปราศจากเรื่องทุกข์โศก เสียใจอย่างขาวโลกทั่วๆไปแล้ว)

ท่านซากุตอบด้วยน้ำเสียงสะอื้นว่า " ก็ด้วยเช่นนี้แหละที่ทำให้ฉันอยู่พ้นจากมันไปเสียได้ "
( หมายความว่าด้วยการที่สุขเมื่อมีสุขและทุกข์เมื่อมีทุกข์นั่นเองที่ทำให้ท่านซากุล่วงพ้นไปจากความบีบคั้นของความทุกข์ในโลกได้ )



หากกล่าวตามแบบเต๋า ก็จะต้องกล่าวว่า ชีวิตจะต้องมีทั้งสุขและทุกข์ จะมีอย่างใดอย่างหนึ่งอยา่งเดียวไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อความเติบโตของชีวิต (ในทางจิตวิญญานนั่นเอง) ดุจต้นไม้ต้นหนึ่ง ซึ่งจะต้องเผชิญทั้ง ฤดูแล้งและ๔ดูฝน จึงจะเกิดวงจรชีวิต หรือวงปีที่สมบูรณ์ได้ หากมีแต่ฤดูแล้งก็จะแห้งตาย หรือหากมีแต่ฤดูฝนก็จะทำให้ต้นไม้นั้นมีรากเน่า และตายไปในที่สุดเช่นกัน

เมื่อเราคำนึงถึงว่า ความสุขและความทุกข์เป็นสิ่งเดียวกันประดุจดั่งเหรียญสองหน้า เราก็ไม่ควรที่จะปฏิเสธที่จะรับแค่สิ่งหนึ่ง และไม่ยอมรับอีกสิ่งหนึ่ง เพราะนั่นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เมื่อสุขจงสุข เมื่อทุกข์จงทุกข์ และทำความเข้าใจอยู่กับมันอย่างเต็มที่


ที่มา :ละเอียด ศิลาน้อย.อยู่อย่างเซน.พิมพ์ครั้งที่8:สำนักพิมพ์ดอกหญ้า2000,กรุงเทพมหานคร; 2544








ข้อความหลังจากนี้ เป็นสิ่งที่เจาของบล็อคเขียนเอง โดยมีแนวทางมาจากหนังสือข้างต้น ร่วมกับการอ่านแล้วพิจารณา หากผิดหรือถูกประการใด ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

การที่มนุษย์เกิดและดำรงชีวิตอยู่จนกระทั่งถึงกับวันสุดท้ายของชีวิตนั้น ต้องผ่านกับความทุกข์ ความสุข ความคิดถึง ความเศร้าหมอง หม่นใจ เคียดแค้น ยินดีมามากแค่ไหน 

ทุกครั้งที่ผ่านไป ก่อนได้พบเจอเหตุการณ์เหล่านั้น ก็เคยคิดว่า ถ้าเราเป็นแบบนั้น เราจะต้องตายไปแน่ๆ ไม่รู้จะเอาหน้าไปอยู่ที่ไหน หรือ อย่างในเรื่องของความรัก อาจจะเคยคิดว่าถ้าเราขาดเขาไปแล้ว  เราจะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร แล้วเราจะหายใจต่อไปได้ไหม และสุดท้าย ในวันที่ความรักเหล่านั้นลาจาก เราก็จะได้พบว่า เรายังสามารถหายใจอยู่ได้ตามปกติ ระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆที่ทำงานต่อเนื่องกันในระบบการหายใจ ยังทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนอากาศ เพื่อฟอกเลือดและนำออกซิเจนไปสู่ร่างกาย เพื่อให้เกิดการทำงานและการดำเนินต่อไปของระบบอื่นๆในร่างกายได้อย่างปกติ

จริงอยู่ที่ว่า ความสุขอาจเปลี่ยนแปลงไป มาก หรือ น้อยกว่าเก่า อันนี้คงไม่สามารถคาดเดากันได้ แต่ส่วนมาก คาดว่า จะน้อยลงกว่าเดิม การต้องผิดหวัง ย่อมทำให้เกิดทุกข์ แต่ความทุกข์ ไม่สามารถทำให้คนเราตาย โดยที่ไม่ได้อาศัยกระบวนการอื่นร่วมด้วยได้ หากทุกข์แล้วโศกเศร้าหนักเสียจนกระทั่งหมดลมหายใจ สมองเลิกทำงานไป จนกระทั่งตายแบบนั้น ทุกข์คือเหตุของความตาย แต่เท่าีที่มีชีวิตอยู่มาค่อนข้างนาน ยังไม่เจอข่าวนี้ ที่เจอคือ ข่าวตกใจจนหมดสติ ช็อค และเสียชีวิต แต่นั่น มักไม่พบว่า จะเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นกับบุคคลที่มีสภาวะร่างกายและจิตใจที่ปกติและสมบูรณ์พร้อมสักเท่าไหร่




ผู้เขียนเอง เคยผ่านห้วงของความทุกข์ และสุข มามากมายเช่นกัน ทั้งทุกข์และสุขเนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับตนเองและคนใกล้ชิืด รวมทั้ง เมื่อชีวิตดำเนินไปในระยะเวลาที่ยาวไกลมากขึ้น อย่างปัจจุบัน ก็เกิดความรู้สึกทุกข์และสุข ที่เกิดเนื่องมาจากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับคนรอบข้างเ่พิ่มมาด้วย 

ทุกข์และสุขที่เกิดขึ้นกับตัวเองนั้น สุดท้ายแล้ว หากเราปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิต ที่ทำให้เกิดสาเหตุของทุกข์นั้น ความทุกข์มักจะจางหายไป พร้อมกับได้เข้ามาเพาะบ่มให้เรากลายเป็นคนที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น พร้อมที่จะเผชิญกับความทุกข์ใหม่ๆมากขึ้น

แต่ความทุกข์ที่เกิดกับบุคคลแวดล้อมนั้น เราไม่สามารถแก้ปัญหาแห่งทุกข์ ที่เกิดขึ้นกับคนรอบข้างเราได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตของตัวเราเอง แต่การแก้ปัญหาเหล่านั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดกระบวนการแห่งการแก้ปัญหา เพื่อความสุึขกลับคืนมา และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับทุกข์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป

สุดท้ายแล้ว หากถามผู้เขียนว่า บทความนี้ต้องการกล่าวเพื่อสื่อถึงอะไร ตัวผู้เขียนเองก็คงบอกได้แค่ว่า ต้องการให้คนเราสามารถเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในทุกสภาวะ ความสุข หรือความเศร้า และต้องยอมรับอยู่เสมอว่า สิ่งต่างๆเหล่านี้ต่างก็ได้ไม่จีรังยั่งยืน เกิดขึ้นได้ ก็ดับลงไปได้ ตามระยะเวลาที่เปลี่ยนแปลง อาจจะหายได้ โดยผ่านการแก้ไขปัญหา หรืออาจจะหายไปได้ โดยที่ถูกละเลยและมองว่า ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องเผชิญกับปัญหานั้น ตัวเราเองคงต้องพยายามยอมรับ แล้วแก้ไข รวมทั้งจดจำ เพื่อให้ปัญหานั้น ได้ถูกแก้ไข และเกิดเป็นแนวทางที่จะสามารถทำให้ชีวิตได้ดำเนินต่อไปเมื่อเกิดปัญหาที่คล้ายคลึงกันอีก ว่า จะต้องดำเนินการอย่างไร เมื่อต้องเจอปัญหาเหล่านั้น อย่าปล่อยให้ทุกปัญหา ถูกละเลย ไม่ใส่ใจ แล้วอาจจะเป็นตัวเราเองนี่หละ ที่เดินวนกลับมา แล้วก้าวสะดุดปัญหา ที่เราเองละเลยและมองว่า ไม่ใช่ปัญหา แล้วทำความสูญเสียให้กับชีวิตเราิ อย่างรุนแรงมากเกินกว่าีที่คิดเอาไว้ก็เป็นได้ 

ดังนั้น นอกจากจะต้องยอมรับและอยู่กับมันอย่างเต็มที่และทำความเข้าใจแล้ว ยังจะต้องไม่ละเลยปัญหา แล้วทิ้งเอาไว้โดยไม่แก้ไขอีก ไม่เช่นนั้น ก็คงจะไม่เ้กิดประโยชน์ใดๆ เจอปัญหาเก่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ วนเวียนไปมาซ้ำซาก ฉุดรั้งความเจริญในชีวิต เหมือนกับที่เจอ ในทุกวันนี้ 

ที่ๆผู้เขียนได้ดำรงชีวิตอยู่ และพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น น่าจะควรแก้ไขได้ แต่ก็ยังมีหลายคนมองว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ เพราะตนไม่ได้รับผลที่เกิดขึ้นจากปัญหา หรือบางคนอาจจะมองว่า ผู้ที่ทำให้เกิดปัญหานั้นไม่ใช่ตนเอง มีแต่คนอื่นที่ทำให้เกิดปัญหา ขัดแย้ง และถ่วงความเจริญรุ่งเรืองของตน ซึ่งจะต้องบอกว่า คนีท่คิดว่า ปัญหาเป็นของคนอื่นนั่นเอง ที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้ เกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มัวแต่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ยอมปล่อยวาง ไม่ยอมรับในความทุกข์เสียบ้าง เอาแต่ตนเองเป็นใหญ่ หลอกตัวเองว่า มีความสุขไปวันๆ แบบนี้คงไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีของการแก้ปัญหาอย่างแน่นอน




บทความนี้เขียนพร้อมกับการรับรู้เรื่องของทุกข์ ที่เกิดขึ้นกับน้องคนหนึ่ง ที่ได้รู้จักกัน และค่อนข้างสนิทสนม เป็นเหมือนพี่น้องกันเลยทีเดียว อยากให้สิ่งดีๆ ความสุข เกิดขึ้นกับชีวิตของน้องบ้าง ส่วนปัญหาทุกๆอย่า่ง  ก็อยากจะให้คลี่คลาย เพราะทุกข์ที่เกิดจากการสูญเสียบุคคลที่รักยิ่งนั้น คงหนักหนายิ่งกว่าทุกข์ใดในโลก แต่หากเรายังคงจมอยู่กับทุกข์แห่งความสูญเสียนั้น ด้วยความเ้สียใจ ระลึกถึง หรือกตัญญู ย่อมไม่ทำให้ผู้ที่จากไป รู้สึกสงบมากพอที่จะจากไปอย่างแน่นอน

ขอให้น้อง กลับมาเข้มแข็งเร็วๆนะ ตอนนี้หากจะทุกข์ ก็จงทุกข์ให้เต็มที่ ร้องให้ให้มากเท่าที่อยากจะร้อง แล้วอย่าลืม แสดงความเข้มแข็งที่มาจากใจ ไม่ใช่เสแสร้งกระทำ เพื่อแสดงให้คนที่ยังอยู่ รวมถึงคนที่จากไป ที่รักและเป็นห่วงในตัวน้องเสมอได้รู้ว่า น้องสามารถดำเนินชีวิตต่อไป ด้วยร่างกายและจิตใจที่เข้มแข็งมากพอ และก้าวต่อไป อย่างคนที่มีพลัง เพื่อไม่ให้ใครที่จากไปคนนั้น เป็นห่วง และกังวล ขอให้ท่านจากไปสู่สุขคติ และขอให้น้องมีพลังที่เข้มแข็งพอที่จะสู้โลกต่อไปได้ พี่เองเชื่อมั่นอยา่งสนิทใจ ว่าน้องนั้น แข็งแกร่งกว่าที่คิดไว้ และขอฝห้สิ่งที่พี่เชื่อนั้น เป็นเรื่องจริงด้วยเถอะ




วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

อนุรักษา...มหาทำลาย



ในประเทศญี่ปุ่นสมัยแรกๆ มีการใช้โคมไฟกันโดยทั่วๆไป โคมไฟดังกล่าวทำโครงด้วยไม่ไผ่และใช้กระดาษหุ้มไว้โดยรอบ ภายในจุดเที่ยน1เล่ม เพื่อส่องสว่าง และใช้เป็นตะเกียงในสมัยโบราณ

คืนวันหนึ่ง ชายตาบอดผู้หนึ่งได้ไปเยี่ยมเพื่อนของเขาคนหนึ่ง พอจะลากลับบ้าน เพื่อนก็ให้เขาถือโคมไฟกลับไปด้วย

"ฉันไม่ต้องการโคมไฟหรอก"เขากล่าวขึ้น "มืดหรือสว่างมันก็เหมือนๆกันแหละสำหรับฉัน"

"ฉันรู้ว่าเธอน่ะไม่ต้องการโคมไฟเอาไว้ส่องทาง" เพื่อนของเขาตอบ " แต่ถ้าไม่มีโคมไฟไปด้วย บางทีอาจจะมีใครบางคนวิ่งมาชนเธอเข้าก็ได้ ดังนั้นฉันคิดว่า เธอควรจะเอาโคมไฟไปด้วยนะ"



ชายตาบอดจึงออกเดินทางมาพร้อมกับโคมไฟดวงนั้น และไม่ทันที่เขาจะเดินไปได้ไกลสักเท่าไหร่เลย ก็มีคนวิ่งมาชนเขาเข้าอย่างจัง "จะเดินไปไหนมาไหนก็ระมัดระวังหน่อยซสิ" เขาพูดกับคนที่วิ่งมาชนเขาด้วยเสียงอันดัง "คุณมองไม่เห็นโคมไฟดวงนี้หรือ?"

" โึคมไฟของคุณพี่น่ะ เทียนมันดับไปแล้วล่ะพี่ชาย" ชายคนนั้นตอบสวนขึ้นมา





นิทานเรื่องนี้ ผู้เขียนบล็อคใช้หัวข้อมาจากหนังสือ อยู่อย่างเซน ตามที่ท่านผู้เขียนได้กล่าวไว้ในหัวข้อนั้น สำหรับความหมายของนิทานเรื่องนี้ อยากให้ทุกคนอ่าน แล้วลองพิจารณาดูเองว่า เกิดอะไรขึ้น แล้วเกี่ยวข้องกับการอนุรักษา มหาทำลายอย่างไร

ส่วนล่างต่อจากนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนบล็อค ถูกหรือผิด ยินดีน้อมรับค่ะ

จริงๆแล้วถ้าเป็นผู้เขียนเอง เพื่อนตาบอดมาเยี่ยมที่บ้าน คงไม่ปล่อยให้เดินกลับเองไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืนหรอก แต่จะไปส่งเพื่อนด้วยตนเองจนกว่าเพื่อนตาบอดจะถึงบ้านโดยปลอดภัย เมื่ออ่านนิทานเรื่องนี้แล้ว เห็นว่า เพื่อนตาดีในเรื่องนี้ ที่เพื่อนตาบอดอุตส่าห์คิดถึงและเข้าไปเยี่ยมนั้น ค่อนข้างไม่ใช่เพื่อนที่ดีเลย

การปล่อยให้เพื่อนตาบอดเดินทางกลับบ้านคนเดียว ในกลางคืน พร้อมกับให้โคมไฟที่หุ้มด้านนอกด้วยกระดาษ ด้านในจุดเทียนหนึ่งเล่ม เพื่อป้องกันภัย ไม่ให้คนอื่นวิ่งมาชนเพื่อน โดยที่ตนเองก็คิดว่า ถ้าตนเองที่ตาดีถือ ก็จะสามารถป้องกันภัยได้นั้น ในกรณีที่เพื่อนตาบอด ก็คงจะเป็นเช่นนั้นด้วย



สุดท้ายเพื่อนตาบอดก็ยังโดนคนวิ่งมาชนอยู่ดี และเคราะห์ดี ที่เป็นคน ที่วิ่งมาชนเพื่อนตาบอด ไม่ใช่สัตว์ร้าย ที่อาจเป็นอันตรายต่อเพื่อนที่ตาบอดอยู่แล้วได้

และในกรณีนี้ การที่เทียนดับ ยังอาจจะเป็นผลดีกว่าเทียนที่ยังไหม้ไปเรื่อยๆอีก เพราะว่าหากเทียนยังคงจุดต่อเนื่องจนหมด เทียนอาจจะลามไหม้กระดาษที่หุ้มเทียนอยู่ และเมื่อไหม้แล้ว อาจจะลามไปที่เพื่อนตาบอดคนนั้น

พอโดนความร้อน เพื่อนตาบอดคนนั้นอาจจะต้องโยนไฟทิ้ง อาจกลายเป็นปัญหาลุกลามไป เกิดไฟไหม้ เพราะว่าเพื่อนตาบอดก็คงไม่รู้ว่า จะตามไปดับไฟอย่างไร

ของที่ดีกับเรา หรือของที่เราคิดว่าเราเคยใช้แล้วมันดี อาจจะไม่ได้ดีไปตลอดชั่วชีวิตเรา และอาจจะไม่ได้มีประโยชน์เลยต่อผู้อื่น ซ้ำร้าย ยังอาจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่นอย่างมากด้วยก็ได้





ที่มา :ละเอียด ศิลาน้อย.อยู่อย่างเซน.พิมพ์ครั้งที่8:สำนักพิมพ์ดอกหญ้า2000,กรุงเทพมหานคร; 2544

หินยานและมหายาน



พุทธศาสนานิกายหินยาน หรือเถรวาท จะทำการนับถือคติและวินัยเคร่งครัดตามพระธรรมวินัยดั้งเดิม โดยใช้ภาษาบาลีสวด หรือมคธ ในการสวดบริกรรมคาถา ยึดถือการปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์เฉพาะปัจเจกบุคคลตามแนวทางขององค์พระพุทธเจ้า

ในประเทศไทย นับถือพุทธศาสนาแบบหินยาน หรือเถรวาท สืบเนื่องมาช้านาน อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านอีกจำนวนหนึ่งที่นับถือพุทธศาสนาแบบหินยานอีกประมาณ 5 ประเทศ คือ พม่า กัมพูชา ลาว ศรีลังกา และอินเดีย (หากรวมประเทศไทยด้วยเป็น 6 ประเทศ)

วัตรปฏิบัติของพระในสายหินยานไม่มีการแก้ไขดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น คงเดิมทั้งหมด ซึ่งภายหลังนิกายหินยานในประเทศก็แตกเป็น 2 นิกาย คือ ธรรมยุติ และมหานิกาย



มหานิกาย คือ การนับถือแบบหินยานเดิมทุกประการ อาทิ ฉันภัตตาหาร 2เวลา คือ เช้า เพล สวมรองเท้า จับเงินทองได้ ส่วนนิกายธรรมยุตกำเนิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเมื่อคราวพระจอมเกล้าเจ้าอยู๋หัวทรงผนวชอยู่นั้น ได้เห็นพระภิกษุหย่อนในธรรมวินัยจึงรวบรวมพระภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาอยู่รวมกัน โดยให้มีข้อวัตรปฏิบัติที่เข้มงวด อาทิ ห้ามสวมรองเท้า ห้ามรับปัจจัย ฉันอาหารมื้อเดียว เป็นต้น

พระพุทธศาสนิการมหายาน ที่แยกตัวออกไปถือคติอาจริยวาท คือ เชื่อตามคำสอนของอาจารย์ สามารถประชุมแก้ไขพระวินัยตามกาลเทศะ เรียกว่า ลัทธิอาจริยวาท หรือ ลัทธิสังฆิกะ ถือการช่วยเหลือและปรัชญา โดยเฉพาะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ ใช้ภาษาสันสกฤตในการสวดสังคายนาพระธรรมวินัย

นิกายมหายานนั้นก่อตัวเมื่อ400ปีเศษ และได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้ากนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะ ประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่่1 และแผ่ขยายไปถึง จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ทิเบต



นิกายมหายานนี้ได้แบ่งออกไปได้อีกหลายลัทธิด้วยกัน ซึ่งพอที่จะเขียนตามลำดับได้ดังนี้

ลัทธิเซน คือลัทธิหลักของพระมหายานที่มีข้อวัตรคล้ายคลึงกับพระภิกษุฝ่ายหินยานมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีลัทธิวัชรยาน ลัทธิเต๋า ลัทธิบู๊ตึ๊งง้อไบ๊ เป็นต้น

ความรู้เกี่ยวเนื่องกับลัทธิเซนนี้สามารถนำมาน้อมปฏิบัติในประชาชนทั่วไปได้ แม้ว่าเราจะเป็นชาวพุทธที่แตกต่างในนิกายกับเขาก็ตาม แต่เราก็มีพระศาสดาองค์เดียวกัน และเซน อาจจะนิกายแรกของมหายานที่แตกออกมาจากหินยานที่อินเดีย

วิธีการสอนของเซนนั้นค่อนข้างจะตรงและชัดเจน สอนในลักษณะที่ให้คนมีความคิดในการแก้ไขและปรับปรุงตนเอง และสอนให้มีึความสำนึกในการกระทำ แบบที่เห็นตัวเองตามความเป็นจริง

เราไม่อาจให้นิยามของเซนได้ เพราะเซน ไม่เน้นนิยาม ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ทุกอย่างปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่ต้องไม่ทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น การรู้สึกตัวทุกขณะระหว่างกระทำการใดๆ คือหลักการที่เซน เน้นให้ปฏิบัติ





ที่มา:นันทมุนี.คิดอย่างเซน.สำนักพิมพ์ไพลิน:กรุงเทพ,2546..

ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

กำเนิดมหายาน



บทความในบล็อคนี้นำมาจาก หนังสือ  คิดอย่างเซน เขียนโดยนันทมุนี ค่ะ

หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาได้ 45 ปี ความเจริญรุ่งเรืองของศาสนาพุทธก็เริ่มมีมากขึ้นตามลำดับ

พระองค์เคยทรงตรัสไว้กับพระอานนท์ว่า หากเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วนั้น พระธรรมวินัยที่กล่าวจะเป็นศาสดาของภิกษุทั้งหลาย

พระธรรมวินัยนี้เกิดจากการกระทำของบรรดาภิกษุสาวกที่กระทำแล้วถูกตำหนิ ด้วยเหตุผลของความไม่เหมาะสมต่อศรัทธาผู้พบเห็น แล้วนำความมากราบทูลพระองค์ ทรงรับไว้พิจารณาแล้วเรียกรพะภิกษุสาวกมาว่ากล่าวบ้าง โดยมากจะตรัสกับพระอานนท์ เพราะในทางโลกมีศักดิ์เป็นอนุชาของพระองค์



ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ได้เสร็จดับขันธ์ไปเพียง 4 เดือน พระอริยสาวกของพระองค์ได้ทำการประชุมสังคายนาพระธรรมตามคำสั่งสอนโดยจัดให้เป็นระเบียบวินัย ที่ถ้ำสัตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์ โดยมีพระมหากัสสปะเถระเป็นประธาน มีพระอานนท์เป็นผู้บอกกล่าวตามที่ได้ทรงจำมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

พระมหากัสสปะเถระนี้ ท่านเป็นสุปฏิปันโนที่พระพุทธองค์ทรงมีความอนุเคราะห์ในธรรมมาก และยกย่องว่าเป็นเลิศทางด้านการปฏิบัติกรรมฐานในการอยู่ป่าโคนไม้เป็นวัตร

คราวหนึ่งที่ทรงตรัสเทศนาธรรมอยู่ในกาลนั้น พระพุทธองค์เทศนาไปได้ทอดพระเนตรเห็นท่านมหากัสสปะจึงทรงยกดอกบัวขึ้น 1 ดอก พระมหากัสสปะจึงเดินเข้าไปเฝ้าแล้วรับดอกบัวนั้น

พร้อมสังฆาฏิพาดพระอังสาของพระพุทธองค์ก็ทรงประทานให้พระมหากัสสปะ เนื่องจากของพระมหากัสสปะนั้นขาดมาก เกินกว่าที่จะนำมานุ่งห่มได้อีกต่อไป



สังฆาฏินี้ความจริงเหมือนกับจีวรอีกผืน เป็นผ้าสำรองไว้ึครองแทนจีวร หากว่าหายหรือว่าชำรุด หาใช่เป็นเครื่องประดับเพื่อความงดงามไม่ หลังจากสังคายนาเมื่อคราวนั้นเสร็จสิ้น พระภิกษุก็อยู่กันโดยระเบียบและพระธรรมวินัยตามดำรัสของพระพุทธองค์

หลังจากนั้นผ่านไปประมาณ 10 ปี ได้มีพระภิกษุคณะหนึ่งที่เรียกว่า "วัชชีบุตร" แห่งเมืองเวสาลี ก็เห็นพ้องกันว่า ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานนัน้ทรงเคยตรัสเอาไว้ว่า ให้พระสาวกสามารถแก้ไขพระธรรมวินัยได้ตามกาละเทศะ

พระภิกษุคณะนี้จึงร่วมกันแก้ไขพระธรรมวินัยบางสิกขาบทบางประการขึ้น เช่น สามารถฉันภัตตาหารนอกเวลาเพลได้ หรือรับเงินสืบทอดจากอุบาสกอุบาสิกาได้ ในการแก้ไขครั้งนี้ มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงต้องเกิดการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่2 ขึ้น


ด้วยเหตุที่เมื่อคราวพระพุทธองค์ทรงตรัสอนุญาตให้แก้ไขนั้น ไม่ได้ทรงตรัสว่าแก้ไขบทใดบ้าง และพระอานนท์ก็ไม่ได้ถามด้วยว่าทรงอนุญาตให้แก้บทไหนบ้าง จึงเกิดความลุมเครือในการนี้ขึ้น

การประชุมสังคายนาครั้งที่ 2 นี้ เมื่อเกิดความเห็นไม่พ้องกัน จึงแตกออกมาเป็น2ฝ่าย ทันใดนั้นเอง และนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 นิกายด้วยกัน


ที่มา:นันทมุนี.คิดอย่างเซน.สำนักพิมพ์ไพลิน:กรุงเทพ,2546..

วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

อย่างนั้นหรือ

นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง อย่างนั้นหรือ



"Is that so?" ท่านลองแปลเอาเองว่า อย่างไรมัน ก็คล้ายๆ กับว่า "อย่างนั้นหรือ?"

  นิทานเล่าว่า ณ สำนักเซ็น ของอาจารย์ เฮ็กกูอิน ซึ่งเป็นวัดที่เลื่องลือมาก เป็นเหมือนกับว่า เป็นที่พึ่งของหมู่บ้าน 

ที่ร้านชำใกล้ๆ วัดนั้น มีหญิงสาวสวย คนหนึ่ง เป็นลูกเจ้าของร้าน ทีนี้โดยกะทันหัน ปรากฏว่า มีครรภ์ขึ้นมา พ่อแม่เขา พยายาม คะยั้นคะยอ ถาม ลูกสาวก็ไม่บอก แต่เมื่อ ถูกบีบคั้นหนักเข้า ก็ระบุชื่อ ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน 

เมื่อหญิงสาวคนนั้น ระบุ อาจารย์เฮ็กกูอิน เป็นบิดาของเด็ก ที่อยู่ในครรภ์ พ่อแม่โกรธ เป็นฟืนเป็นไฟ ไปที่วัด แล้วก็ไปด่า ท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ด้วยสำนวนโวหาร ของคนที่โกรธที่สุด ที่จะด่าได้อย่างไร 

ท่านอาจารย์ไม่มีอะไรจะพูด นอกจากว่า "Is that so?" คือ ว่า "อย่างนั้นหรือ" สองคนด่าจนเหนื่อย ไม่มีเสียงจะด่า ไม่มีแรงจะด่า ก็กลับไปบ้านเอง ทีนี้ พวกชาวบ้าน ที่เคยเคารพนับถือ ก็พากันไปด่า ว่าเสียที ที่เคยนับถือ อย่างนั้น อย่างนี้ ท่านก็ไม่มีประโยคอะไรที่จะพูด นอกจากว่า "Is that so?" พวกเด็กๆ ก็ยังพากันไปด่าว่า พระบ้า พระอะไร สุดแท้แต่ ที่จะด่าได้ ตามภาษาเด็ก ท่านก็ว่า "Is that so?" ไม่มีอะไรมากกว่านั้น



ต่อมา เด็กคลอดออกมาจากครรภ์ บิดามารดาที่เป็นตายาย ของเด็ก ก็เอาเด็กไปทิ้งไว้ให้ ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน ในฐานะเป็นการประชด หรือ อะไรก็สุดแท้ ว่า "แกต้องเลี้ยงเด็กคนนี้

ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน ก็มีแต่ "Is that so?" ตามเคย ท่านรับเด็กไว้ และต้องหานม หาอาหาร ของเด็กอ่อนนั้น จากบุคคลบางคน ที่ยังเห็นอก เห็นใจ ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน อยู่ พอเลี้ยงเด็กนั้น ให้รอดชีวิต เติบโตอยู่ได้ 

ทีนี้ ต่อมานานเข้า หญิงคนที่เป็นมารดา ของเด็ก เหลือที่จะทนได้ มันเหมือนกับไฟนรก เข้าไปสุมอยู่ในใจ เพราะเขาไม่ได้พูดความจริง ฉะนั้น วันหนึ่ง เขาจึงไปสารภาพ บอกกับบิดามารดาของเขาว่า บิดาที่แท้จริง ของเด็กนั้น คือ เจ้าหนุ่มร้านขายปลา ทีนี้ บิดามารดา ตายายคู่นั้น ก็มีจิตใจ เหมือนกับ นรกเผาอยู่ข้างใน อีกครั้งหนึ่ง รีบวิ่งไปที่วัด ไปขอโทษ ขอโพย ต่ออาจารย์เฮ็กกูอิน ขอแล้ว ขอเล่าๆ เท่าที่จะรู้สึกว่า เขามีความผิด มากอย่างไร ก็ขอกัน มากมาย อย่างนั้น ท่านก็ไม่มีอะไร นอกจาก Is that so? แล้วก็ขอ หลานคนนั้น คืนไป 

ต่อมา พวกชาวบ้าน ที่เคยไปด่า ท่านอาจารย์ ก็แห่กันไป ขอโทษอีก เพราะความจริง ปรากฏขึ้น เช่นนี้ ขอกันใหญ่ ไม่รู้กี่สิบคน ขอกันนานเท่าไร ท่านก็ไม่มีอะไรจะพูด นอกจาก Is that  so? อีกนั่นเอง เรื่องของเขาก็จบเท่านี้



นิทานเรื่องนี้ จะสอนว่าอย่างไร เราถือว่า นิทานชุดนี้ ก็เหมือนกับ นิทานอิสป ในทางวิญญาณ ในทาง Spiritual point of view นิทานเรื่องนี้ สอนว่าอย่างไร นั้นหรือ 

มันก็เหมือนกับ ที่พระพุทธเจ้า ตรัสว่า "นตฺถิ โลเก รโห นาม" และ "นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต" "การไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก" หรืออะไรทำนองนี้ 

แต่ท่านทั้งหลาย ลองเปรียบเทียบ ดูทีหรือว่า ถ้าพวกครูบาอาจารย์ ของเราทั้งหลาย เป็นผู้ถูกกระทำ อย่างท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ท่านจะเป็นอย่างนี้ได้ไหม คือจะ Is that so? คำเดียว อยู่ได้ไหม 

ถ้าได้ เรื่องนี้ ก็คงจะไม่เป็น อย่างที่กำลังเป็นอยู่ คือ คงจะไม่ถูกฟ้องว่า ตีเด็กเกินควร หรือ อะไรทำนองนั้น ต้องไปถึงศาลก็มี อาตมาเคยเห็น ครูที่บ้านนอก ต้องไปพูด กันถึงโรงถึงศาลก็มี เพราะตีเด็กเกินควร เป็นต้น นี่คือ มันหวั่นไหว ต่ออารมณ์มากเกินไป จนกระทั่ง เด็กเล็กๆ ก็ทำให้โกรธได้ 

ที่เรื่องนิดเดียว ก็ยังโกรธได้นี่ เพราะว่า ไม่ยึดถือความจริง เป็นหลักอยู่ในใจ มันจึงไหวไปตามอารมณ์ โกรธมาก กลัวมาก เกลียดมาก ล้วนแต่เป็นอารมณ์ร้ายไปเสียทั้งนั้น ทำไมไม่คิดว่า มันไม่ใช่ เรื่องราวอะไรมากมาย มันไม่ใช่ เป็นไปตามเสียงส่วนมาก ที่ยืนยันว่า อันนั้น ต้องเป็นอันนั้นจริง ความจริง มันต้องเป็นความจริง ถ้าจะมีอุเบกขา ก็ควรจะมีอุเบกขาอย่างนี้ ไม่ใช่ อุเบกขาผิดอย่างอื่น 
ฉะนั้น เราควรจะฟังเรื่องของเขาไว้



ยิ่งเร็ว นั่นแหละจะยิ่งช้า

นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง ยิ่งให้เร็ว นั่นแหละจะยิ่งช้า



"ยิ่งให้เร็ว นั่นแหละ จะยิ่งช้า" เรื่องนี้ จะมีประโยชน์มาก สำหรับ ครูบาอาจารย์ จึงเลือกนำมาเล่า ให้ฟัง ในเรื่อง"ยิ่งให้เร็ว นั่นแหละ จะยิ่งช้า" เรื่องนี้ ถึงท่านจะ ไม่เรียก ตนเองว่า ครู ก็ตาม ก็ควรจะสนใจฟัง ในฐานะที่ว่าจะเป็นปัจจัย กื้อกูลแก่การเข้าใจธรรม และปฏิบัติธรรม 

เรื่องเล่าว่า มีหนุ่มคนหนึ่ง เขาอยากจะเป็นนักฟันดาบที่เก่งกาจ เขาไปหาอาจารย์สอนฟันดาบ ให้ช่วยสอนเขาให้เป็นนักฟันดาบ เขาถามอาจารย์ว่าจะใช้เวลาสักกี่ปี อาจารย์ ตอบว่า ประมาณ ๗ ปี เขาชักจะรวนเรเพราะว่า ๗ ปี นี้มันเป็นเวลา มิใช่น้อยฉะนั้นเขาขอร้องใหม่ว่า เขาจะพยายาม ให้สุดฝีมือ สุดความสามารถ ในการศึกษา ฝึกฝน ทั้งกำลังกาย กำลังใจ ทั้งหมด ถ้าเป็นเช่นนี้ จะใช้เวลา สักกี่ปี อาจารย์ก็บอกว่า "ถ้าอย่างนั้นต้องใช้เวลา สัก ๑๔ ปี" แทนที่จะเป็น ๗ ปี กลายเป็น ๑๔ ปี ฟังดู



หนุ่มคนนั้น ก็โอดครวญ ขึ้นมาว่า บิดาของเขาแก่มากแล้ว จะตาย อยู่รอมร่อแล้ว เขาจะพยายาม อย่างยิ่ง ให้บิดา ของเขา ได้ทันเห็นฝีมือฟันดาบของเขาก่อนตาย เขาจะแสดง ฝีมือฟันดาบ ของเขา ให้บิดา ของเขาชมให้เป็นที่ชื่นใจแก่บิดา เขาจะพยายาม อย่างยิ่ง ที่จะแสดง ความสามารถ ให้ทันสนองคุณ ของบิดา จะต้องใช้เวลาสักเท่าไร ขอให้อาจารย์ ช่วยคิดดูให้ดีๆ

ท่านอาจารย์ก็บอกว่า "ถ้าอย่างนั้นต้อง ๒๑ ปี" นี้มันเป็นอย่างไร ขอให้นึกดู แทนที่จะ ลดลงมา มันกลายเป็น เพิ่มขึ้นเป็น ๒๑ ปี หนุ่มคนนั้น จะเล่นงาน อาจารย์ อย่างไร ก็ไม่ได้ เพราะเป็นอาจารย์ จะทำอย่างอื่น ก็ไม่ถูก นึกไม่ออก เพราะไม่มีใคร จะเป็นอาจารย์ สอนฟันดาบ ให้ดีกว่านี้ ซึ่งเป็น อาจารย์ ของประเทศ ดังนั้น เขาก็ ซังกะตาย อยู่ไปกะอาจารย์ ด้วยไม่รู้ว่า จะทำอย่างไรดีนั่นเอง

หลายวันต่อมา อาจารย์ก็ใช้ คนคนนี้ แทนที่จะเรียก ไปสอน ให้ใช้ดาบ ฟันดาบ กลับให้ทำครัว ให้ทำงานในครัว ให้ตักน้ำผ่าฟืน หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เรียกว่า ต้องทำงานในครัว



หลายวันล่วงมา วันหนึ่ง อาจารย์ผลุนผลัน เข้าไปในครัว ด้วยดาบสองมือ ฟันหนุ่มคนนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้สึกตัว อุตลุต เป็นการใหญ่ เขาก็ต้องต่อสู้ ไปตามเรื่อง ตามราว ของเขา ตามที่เขาจะสู้ได้ โดยใช้อะไร แทนดาบ หรือ ด้วยมือ เปล่าๆ หรืออะไรก็สุดแท้ สองสามอึดใจ แล้วก็เลิกกัน อาจารย์ ก็กลับไป แล้วต่อมา อีกหลายวัน เขาก็ถูกเข้า โดยวิธีนี้อีก และมีบ่อยๆ อย่างนี้เรื่อยไป ไม่กี่ครั้ง เขาก็กลายเป็น นักฟันดาบ ขึ้นมาได้ โดยไม่รู้สึกตัว จนกระทั่ง อาจารย์บอกว่า กลับบ้านได้ คือจบหลักสูตรแล้ว และปรากฏว่า ต่อมาหนุ่มคนนี้ ก็เป็น นักดาบ ลือชื่อ ของประเทศญี่ปุ่นไป นิทานของเขาก็จบ.

ท่านลองคิดดูว่า นิทานเรื่องนี้ สอนว่าอย่างไร? ตอบสั้นๆ ที่สุดก็คือว่า การทำอะไร ด้วยความ ยึดมั่น
 ถือมั่น ว่า ตัวตน ว่าของ ของตนนั้น ใช้ไม่ได้ ไม่มีทางที่จะเป็น ผลดีเลย คือ ถ้าหนุ่มคนนี้ ยังคิดว่า 
กูจะดี กูจะเด่น อยู่ละก็ มีตัวกู เข้ามาฝึก เป็นตัวกู ที่ใหญ่เอาการ อยู่เหมือนกัน ทีนี้ ถ้ายิ่งจะทำให้ดีที่สุด 
กูจะทำให้เก่งที่สุด ให้เร็วที่สุด อย่างนี้ด้วยแล้ว ไอ้ตัวกู มันยิ่งขยาย โตออกไปอีก 

ถ้ายิ่งจะให้ทัน บิดาเห็น บิดาแก่มากจะตายแล้ว ตัวกู มันยิ่งพองมากออกไปอีก มันยิ่งเร่งร้อน ออกไปอีก อย่างนี้ จิตไม่เป็นสมาธิได้ จิตเต็มอัดอยู่ด้วยตัวกู กลัดกลุ้มไปด้วยตัวกูของกู ไม่เป็นจิตว่าง ไม่เป็นตัวสติปัญญา อยู่ในจิต ไม่สามารถจะมี สมรรถภาพเดิมแท้ของจิต ออกมาได้ เพราะมัน กลัดกลุ้ม อยู่ด้วยอุปาทาน ว่า ตัวกูของกู หรือ ความเห็นแก่ตัวนี้ มันเลยไม่เฉียบแหลม ไม่ว่องไว ไม่ active อะไรหมด ฉะนั้น ถ้าขืนทำไปอย่างนี้ จริงๆ แล้ว จะต้องใช้เวลา ๗ ปี หรือว่า ๑๔ ปี หรือว่า ๒๑ ปีจริงๆ


ขณะที่เขาอยู่ในครัวนั้น เขาไม่มีความรู้สึกว่า ตัวกู ของกู กูจะเอาใน ๗ ปี หรือจะให้ทันบิดาเห็น อย่างนี้ไม่มีเลย กำลังเป็นจิตที่ว่างอยู่ ถึงแม้ว่า อาจารย์จะผลุนผลัน เข้าไปในลักษณะอย่างไร ปฏิภาณของจิตว่าง หรือ จิตเดิมแท้นี้ ก็มีมากพอ ที่จะต่อสู้ออกไปอย่างถูกต้องได้ มันเป็นการ เรียกร้องขึ้นมา หรือ ปลุกขึ้นมา จากหลับ ปลุกจิตอันนี้ ขึ้นมาจากหลับ ตามวิธีของอาจารย์ที่เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะ มาเป็นจิตที่ เบิกบานเต็มที่ ซึ่งต่อไป ก็เอาไปใช้ได้เลย เขาจึงเป็น ผู้สำเร็จหลักสูตร โดยวิธี ประหลาด นั้น ภายในไม่ถึง ๗ ปี หรือ ภายในไม่ถึงปี อย่างนี้เป็นต้น

เกี่ยวกับข้อนี้ อยากจะให้ท่าน ครูบาอาจารย์ สนใจที่จะนึกดูว่า ความรู้สึกที่เป็น ตัวตน หรือเป็นของตนนั้น อยู่ที่ตรงไหน? เหมือนอย่างว่า เราจะยิงปืน หรือ ยิงธนู หรือว่า ขว้างแม่น ในการกีฬาขว้างแม่น 

ถ้าจิตของผู้ขว้าง มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกู เป็นชื่อเสียงของกู ชื่อเสียง ของโรงเรียนของกู ของมหาวิทยาลัยของกู  รัวอยู่ในใจแล้ว ไม่มีวันที่จะ ขว้างแม่น หรือขว้างถูกได้ มันสั่นระรัว อยู่ด้วยตัวกู หรือของกูนี้ ทั้งนั้น ที่ถูกนั้น เมื่อมีความตั้งใจ ถูกต้อง ที่จะทำเพื่อเกียรติยศ ชื่อเสียง ของโรงเรียน หรือของอะไรก็ตาม แล้วเขาต้องลืมหมด 

ลืมแม้แต่ตัวกู โรงเรียนของกู มหาวิทยาลัยของกู เหลืออยู่แต่สติปัญญา และ สติสัมปชัญญะ ที่จะขว้างด้วย อำนาจสมาธิ เท่านั้น คือพูดตรงๆ ก็ว่า ขณะนั้น มีแต่จิตที่เป็นสมาธิ กับสติปัญญาเท่านั้น ตัวกู ของกู ไม่มีเลย มันจึงเป็นจิตเดิม เป็นจิตตามสภาพจิต มือไม้ไม่สั่น ใจไม่สั่น ประสาทไม่สั่น อะไรๆ ไม่สั่น ปรกติ เป็น active ถึงที่สุดแล้ว เขาจะขว้างแม่น เหมือนอย่างกะ ปาฏิหาริย์ นี้ขอให้เข้าใจอย่างนี้



หรือว่า ในการจัดดอกไม้ในแจกัน คนจัดจะต้องทำจิตให้ว่าง จากความเห็นแก่ตัวกู หรือชื่อเสียงของกู ตลอดถึงโรงเรียนของกู หมู่คณะ ของกู เสียก่อนแล้ว เสียบดอกไม้ ไปด้วยจิตว่าง จิตบริสุทธิ์ นั่นแหละ คือ สติปัญญา ล้วนๆ ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู เจืออยู่ ก็จะได้ แจกันที่สวยที่สุด ไม่เคยปรากฏ มาแต่ก่อน นี่เขาถือเป็นหลัก ของนิกายเซ็น 

ฉะนั้น ขอให้สนใจ ในการที่จะทำอะไร หรือมีชีวิตอยู่ ด้วยความ ไม่มีตัวกู ของกู มันยิ่งจำเป็นมาก สำหรับครูบาอาจารย์ ที่จะสอนเด็ก ให้ทำงาน ฝีมือดี ด้วยจิตใจ ที่ปรกติ ไม่สั่น ในระบบประสาท ไม่สั่น ในระบบของ ความคิดนึก หรือว่า เมื่อเด็กๆ จะสอบไล่ เมื่อเขารู้สึกตัว อยู่แล้วว่า จะต้องสอบได้แล้ว จะไปมัวห่วง กลัวจะสอบตก จะเสียชื่อ จะเสียเวลา ถ้าสอบไม่ได้ จะไปโดดน้ำตาย เป็นต้น 

จะต้องไปนึกทำไม นั่นเป็นเรื่องตัวกู ของกู เด็กคนนั้น จะต้อง ลืมสิ่งเหล่านั้น หมด และลืม แม้แต่กระทั่ง ตัวเอง คำว่า "ลืมตัวเอง" นี้ถ้าฟังไม่ดีแล้ว ก็จะไม่เข้าใจ แล้วจะรู้สึกเถียง แย้งขึ้นมาว่า เป็นไปไม่ได้ ที่จริง เราลืมตัวเราเอง นี้ได้ ในลักษณะ หรือกรณีเช่น:

เด็กๆ ในขณะสอบไล่นั้น จะต้องลืมหมด แม้กระทั่งตัวเอง เหลืออยู่ในใจ แต่ว่า ปัญหาว่าอย่างไร มีใจความว่าอย่างไร แล้วคำตอบควรจะว่าอย่างไร 

ถ้าจิตใจ ว่างจากตัวกู ว่างจากของกูแล้ว วิชาความรู้ ต่างๆ ที่เคยสะสม มาตั้งแต่แรก เรียนนั้น จะมาหา พรู มาทีเดียว ให้เขาพบคำตอบว่า อย่างนั้น อย่างนี้ และถูกต้องที่สุด แต่ถ้าเขากลัดกลุ้ม อยู่ด้วยตัวกู ของกู แล้ว แม้เขาจะเคยเรียน มามากอย่างไร มันก็ไม่มา มันมีอาการ เหมือนกับ ลืม นึกไม่ออก 

นั่นแหละ แล้วมันจะ ระส่ำระสาย กระสับกระส่าย รวนเรไปหมด ก็เลยตอบ ไม่ได้ดี ถ้าสอบไล่ ด้วยจิตว่างนี้ จะได้ที่หนึ่ง หรือ ยิ่งกว่า ที่หนึ่ง เสียอีก ฉะนั้น เขาจึงมีการ สอนมาก ในเรื่องที่ว่า อย่าทำจิต ที่สั่นระรัว ด้วยตัวกู ของกู เพราะว่า การทำอย่างนั้น ยิ่งจะให้เร็ว มันจะ ยิ่งช้าที่สุด ตามชื่อของนิทานว่า "ยิ่งให้เร็ว มันยิ่งช้า" หรือ ที่เราจะพูดว่า จะเอาให้ได้ มันยิ่งจะไม่ได้เลย หรือว่า จะไม่เอาอะไรเลย มันยิ่งจะ ได้มาหมด คือ ไม่มีตัวเรา ที่จะเอาอะไรเลยแล้ว มันจะได้มาหมด



เพชรที่หาได้จากโคลนในถิ่นสลัม

นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง เพชรที่หาได้จากโคลนในถิ่นสลัม

  "เพชรที่หาพบจากโคลนในถิ่นสลัม" เรื่องนี้ก็เล่าว่า อาจารย แห่ง นิกายเซ็น ชื่อ กูโด เป็นอาจารย์ ของพระจักรพรรดิ แห่งประเทศญี่ปุ่น ในสมัยนั้น ท่านอาจารย์องค์นี้ ชอบเที่ยว ไปไหนคนเดียวโดดๆ อย่างนักบวชเร่ร่อน แบบปริพพชก ไม่ค่อยได้อยู่กับวัดวาอาราม ครั้งหนึ่งท่านเดินทาง ไปยัง ตำบลอีโด เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของท่าน ที่จะมีแก่คนอื่น ท่านได้ผ่านตำบลๆ หนึ่ง เย็นวันนั้น ฝนก็ตกมา ท่านจึงเปียกปอนไปหมด และรองเท้าของท่านที่ใช้ เป็นรองเท้า ทำด้วยฟาง เพราะ นักบวชนิกายเซ็น ใช้รองเท้าฟางถักทั้งนั้น เมื่อฝนตกตลอดวัน รองเท้าก็ขาดยุ่ยไปหมดท่านจึงเหลียวดูว่า จะมีอะไรที่ไหนจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง 

ก็พบกระท่อมน้อยๆแห่งหนึ่ง ในถิ่นใกล้ๆนั้น เห็นรองเท้าฟางมีแขวนอยู่ด้วย ก็คิดจะไปซื้ สักคู่หนึ่ง เอาแห้งๆมาใส่เพื่อเดินทางต่อไป หญิงเจ้าของบ้านนั้นเขาถวายเลยไม่ต้องซื้อ และเมื่อเห็นว่าเปียกปอนมากก็เลยขอนิมนต์ให้หยุดอยู่ก่อนเพราะ ฝนตกจนค่ำท่านก็เลยต้องพัก อยู่ที่บ้านนั้นด้วยคำของร้องของหญิงเจ้าของบ้าน



หญิงเจ้าของบ้าน เรียกเด็กๆและญาติๆมาสนทนาด้วยท่านอาจารย์ ท่านได้สังเกตเห็นว่า สกุลนี้เป็นอยู่ ด้วยความข้นแค้นที่สุด ก็เลยขอร้อง ให้บอกเล่าตรงๆโดยไม่ต้องเกรงใจ ว่าเรื่องมันเป็นอย่างไรกัน หญิงเจ้าของบ้านก็บอกว่า "สามีของดิฉัน เป็นนักการพนันแล้วก็ดื่มจัด ถ้าเผอิญเขาชนะ เขาก็ดื่มมัน จนไม่มีอะไรเหลือ ถ้าเขาแพ้เขาก็ยืมเงินคนอื่นเล่นอีก เพิ่มหนี้สิน ให้มากขึ้น เขาไม่เคยมาบ้านเลยเป็นวันเป็นคืน หรือหลายวันหลายคืนก็ยังมี ดิฉันไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี"



ท่านอาจารย์กูโด ว่า ไม่ต้องทำหรอก ฉันจะช่วยทำ แล้วก็ว่า นี่ ฉันมีเงินมาบ้างช่วยให้ซื้อเหล้าองุ่น มาให้เหยือกใหญ่ๆ เหยือกหนึ่ง แล้วก็อะไรๆ ที่ดีๆ ที่น่ากิน เอามาให้ เป็นจำนวนเพียงพอ เอามาวางที่นี่ แล้วก็กลับไปทำงานตามเรื่องเถอะ ฉันจะนั่งอยู่ที่นี่ ตรงหน้า ที่บูชา ข้อนี้ หมายความว่า บ้านนั้น ก็มีหิ้งบูชาพระ 

เมื่อผู้ชายคนนั้น กลับมาบ้าน เวลาดึก เขาก็เมา เขาก็พูด ตามประสาคนเมา นี่คำนี้ จะแปลว่ายังไง Hey! wife ก็ต้องแปลว่า เมียโว้ย! มาบ้านแล้วโว้ย มีอะไรกินบ้างโว้ย ตัวหนังสือ เขาเป็นอย่างนี้ ซึ่งมันก็
 เหมือนๆกับ ในเมืองไทยเรา นี้เอง นี่ลองคิดดูว่า คนๆ นี้ จะเป็นอย่างไร ฉะนั้น กูโด ท่านอาจารย์ ที่นั่ง ที่หน้าหิ้งพระ ก็ออกรับหน้า บอกว่า ฉันได้มีทุกอย่าง สำหรับท่าน เผอิญ ฉันมาติดฝนอยู่ที่นี่ ภรรยาของท่าน เขาขอร้องให้ฉันพัก ค้างฝน ที่นี่ตลอดคืนนี้ ฉันก็ควรจะมีส่วนตอบแทนท่านบ้าง

ฉะนั้น ขอให้ท่านบริโภคสิ่งเหล่านี้ ตามชอบใจ ชายคนนั้น ดีใจใหญ่ มีทั้งเหล้าองุ่น มีทั้งปลา มีทั้งอาหารต่างๆ เขาก็ดื่มและรับประทาน จนนอนหลับไป ไม่รู้สึกตัว อยู่ตรงข้างๆ เข่าของท่านอาจารย์ กูโด ที่นั่งสมาธิ ตลอดคืนนั้น เหมือนกัน 



ทีนี้ พอตื่นขึ้นมา ตอนเข้า ชายคนนั้น ก็ลืมหมด ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะเมื่อคืนนี้เขาเมาเต็มที่ และถามว่า ท่านเป็นใคร  และจะไปข้างไหน ท่านอาจารย์ ก็ตอบว่า อ๋อ! อาตมาคือ กูโด  แห่งนคร กโยโต(Kyoto  เกียวโต) กำลังจะไปธุระ ที่ตำบล อิโด 

ตามเรื่องที่ว่ามาแล้ว เมื่อกี้นี้ ถ้อยคำอย่างนี้ มันประหลาดที่ว่า บางครั้ง ก็มีอิทธิพล มากมาย คือว่า ชายคนนั้น ละอายจนเหลือที่จะรู้ว่า จะอยู่ที่ไหน จะแทรกแผ่นดิน หนีไปที่ไหน ก็ทำไม่ไหว แทรกไปไม่ได้ มันละอาย ถึงขนาดอย่างนั้นแล้ว ก็ขอโทษขอโพย ขอแล้ว ขออีก จนไม่รู้จะขออย่างไรต่ออาจารย์ของพระจักรพรรดิ ซึ่งจับพลัดจับผลู เข้ามาอยู่ที่บ้านเขา 

ท่านกูโด ก็ยิ้มละไมอยู่เรื่อย แล้วก็พูดขึ้นช้าๆ บอกว่า "ทุกอย่างในชีวิตนี้ มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย 
เป็นกระแสไหลเชี่ยว ไปทีเดียว และทั้งชีวิตนี้ มันก็ สั้นเหลือเกินด้วย ถ้ายังเล่นการพนัน และดื่มอยู่ดังนี้ 
ก็หมดเวลาที่จะทำอะไรอื่นให้เกิดขึ้น หรือ สำเร็จได้นอกจากทำตัวเองให้เป็นทุกข์ แล้วก็จะทำให้ครอบครัวพลอยตกนรกทั้งเป็นกันไปด้วย


ความรู้สึก อันนี้ ได้ประทับใจนายคนนั้น มีอาการเหมือนกับว่า ตื่นขึ้นมา ในโลกอื่น เหมือนกับตื่นขึ้นมา จากความฝันในที่สุด ก็พูดกับท่านอาจารย์ว่า ที่ท่านอาจารย์กล่าวนั้น มันถูกหมดเลย มันถูกอย่างยิ่ง ถ้าอย่างไรก็ขอให้กระผมได้สนอง พระคุณอาจารย์ ในคำสั่งสอน ที่ประเสริฐนี้ เพราะฉะนั้น ขอให้กระผม ออกติดตามท่านอาจารย์ไปส่งท่านอาจารย์ในการเดินทางนี้สักระยะหนึ่ง 

ท่านอาจารย์กูโด ก็บอกว่าตามใจ สองคนก็ออกเดินทาง ไปได้ประมาณ ๓ ไมล์ ท่านอาจารย์ก็บอกว่า กลับเถอะ นายคนนี้ก็บอกขออีกสัก ๕ ไมล์อาจารย์คะยั้นคะยอ ให้กลับอีก ว่าถึงคราวที่ต้องกลับแล้ว 
นายคนนั้นก็บอกว่า ขออีกสัก ๑๐ ไมล์เถอะ ในที่สุดก็ต้องยอม พอถึง ๑๐ ไมล์ ท่านอาจารย์ คะยั้นคะยอให้กลับ เขาก็ว่า ขอตลอดชีวิตของผมเถอะ นี่ก็เป็นอันว่า ไปกับท่านอาจารย์ ไปเป็น นักบวชแห่งนิกายเซ็น 

ซึ่งต่อมา ก็เป็น ปรมาจารย์พุทธศาสนาแห่งนิกายเซ็นในญี่ปุ่น นิกายเซ็นทุกสาขาที่เหลืออยู่ในญี่ปุ่น 
ในทุกวันนี้ ออกมาจากอาจารย์องค์นี้องค์เดียวเท่านั้น ล้วนแต่เป็นลูกศิษย์ที่สืบมาจาก อาจารย์องค์นี้ องค์เดียว ท่านกลับตัวชนิดที่เราเรียกกันว่า เพชรที่พบจากโคลนในถิ่นสลัม 


นี้เป็นอย่างไรบ้าง ก็ลองคิดดู ในประเทศญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีบางคนก็มาจาก เด็กที่ขายเต้าหู้ หาบหนังสือพิมพ์ ก็เป็น นักเขียนหนังสือพิมพ์น้อยๆ สั้นๆ และเขื่องขึ้นๆ จนเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ที่มีชื่อเสียง และไปเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยหนึ่งในที่สุด นี่เราจะบอกเด็กๆ ตาดำๆ ของเราว่า สิ่งต่างๆ นั้นเปลี่ยนแปลงได้ถึงอย่างนี้ กันสักทีจะได้ไหม เด็กๆ เขาจะมี ความรู้สึกอย่างไร ในฐานะของเขา เขาจะทำตัว ให้เป็นเหมือนกับ "เพชรที่พบในโคลนจากถิ่นสลัม" ได้อย่างไร โดยมาก เขามักจะขายตนเอง เสียถูกๆ จนเป็นเหตุให้ เขา วกไปหา ความสุข ทางเนื้อทางหนัง ต่ำๆ เตี้ยๆ ไม่น่าดูนั้น ก็เพราะว่า เขาเป็นคน ที่ไม่เคารพตัวเอง ท้อถอย ต่อการที่จะคิดว่า มันจะเป็นได้มากอย่างนี้

พระพุทธเจ้า ท่านก็ยังตรัสว่า เกิดมาเป็นคน นี่ ไม่ควรให้ตัวเอง "อตฺตานํ น ทเทยฺยโปโส" แปลว่า เป็นลูกผู้ชาย เป็นบุรุษ ไม่ควรให้ซึ่งตน ให้ซึ่งตน นี้ หมายความว่า  ยกตนให้เสียแก่กิเลส หรือ ธรรมชาติฝ่ายต่ำ มันก็ไม่ได้คิด ที่จะมีอะไร ที่ใหญ่โตมั่นคง ที่จะเป็นนั่น เป็นนี่ ให้จริงจังได้ ข้อนี้ เรียกว่า เราควรจะถือ เป็นหลักจริยธรรม ข้อหนึ่งด้วย เหมือนกัน