User-agent: * Allow: / นิทานเซน Zentale

วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ไปตลาด

ไปตลาด



สำหรับนิทานที่เจ้าของบล็อคหยิบมาอ่านจากเว็บ Thamma gateway วันนี้ เป็นนิทานที่อ่านแล้ว รู้สึกถึงความหมายของคำว่า "กำปั้นทุบดิน" ขึ้นมาตะหงิดๆเลยนะคะ 

คำว่า กำปั้นทุบดิน เมื่อเปิดพจนานุกรม ฉบับ long do ก็ให้ความหมายมาว่า พูดอย่างกว้างๆ , มีนัยว่าพูดไปอย่างไรๆ ก็ไม่ผิด แต่ไม่ได้ให้ประโยชน์อันใดกับผู้ฟัง,  อย่างเช่น เรานอนหลับก็เพราะเราง่วง เป็นต้น

หรืออาจจะคิดถึงคำว่า เฉไฉ ซึ่งก็ค่อนข้างเป็นความหมายที่ตรงข้ามกันเลยกับ กำปั้นทุบดิน กล่าวคือ หมายถึง ถามอย่างหนึ่ง ตอบบอีกอย่างหนึ่ง หรือพยายามที่จะพูดเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นไปจากเดิม 



แล้วถามว่า ทำไมมันถึงตีความหมายได้ต่างกันตั้งสองแบบขนาดนั้น ทั้งๆที่นิทานก็เป็นนิทานแค่เรื่อง
เดียว ก็คงต้องตอบว่า เพราะว่าอ่านแล้วเข้าใจได้สองแบบค่ะ แต่สำหรับส่วนตัวเข้าของบล็อคนี้ก็คงต้องบอกว่า  ช่างเฉไฉได้มากนัก

แต่เมื่อนั่งคิดๆไป จริงๆแล้วบทสนทนาระหว่างเด็กสองคนนั้น ก็อาจจะไม่มีอะไรเลยก็ได้นะคะ 

เด็กคนหนึ่ง อาจจะพูดในคำที่อยากจะพูด

แต่เด็กอีกคนหนึ่ง ช่างคิด ชั่งใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น และพิจารณาในทุกอย่างที่คนอื่นพูดออกมา 

เด็กคนนั้นก็เลยอาจจะรู้สึกว่าตกที่นั่งลำบากสักหน่อย ต้องคอยไล่ตามอีกฝ่าย ว่าจะหาทางรับแล้วส่งกลับสิ่งที่อีกคนหนึ่งพูดกับเราว่ายังไงดี  ทั้งๆที่อีกคนอาจจะก็ไม่เคยคิดเลยก็ได้



สำหรับเจ้าของบล็อคแล้ว ต้องขอตบท้ายด้วยประโยคที่คุ้นหู ด้วยคำว่า 

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การที่เรารับฟังใครว่าเขาพูดอะไรกับเรา และสื่อความหายอย่างไร แล้วเก็บมาคิดให้วุ่นวายและขุ่นเคืองใจ ทำให้ดำเนินชีวิตได้ไม่เป็นสุขไป อย่างนั้น สามารถแก้ไขปัญหาได้สองทางคือ

1. ไม่ต้องคิดในทุกสิ่งที่ใครสักคนเขาพูดมาเลยก็ได้ คำพูดก็แค่พลังงานรูปแบบหนึ่ง ผ่านเข้ามาในหัว แล้วก็ออกไป ไม่มีคำไหนติดอยู่ตราตรึง หากเราไม่คำนึงถึงมันตลอดเวลา

2. เมื่อสงสัยในคำพูดใดๆ ที่ใครสักคนพูดกับเรา และต้องการทราบว่า คำพูดนั้น มีความหมายอย่างไร ให้ถามในข้อสงสัยนั้น

 และถ้าหากว่า อยากจะถามแล้วได้คำตอบที่สวยงาม ไม่มีการเจ็บตัว ไม่ใช่ว่า พอสงสัย ถามด้วยน้ำเสียงหาเรื่องอย่างที่สุด ว่า นี่เธอ ที่พูดนั้นน่ะ หมายความว่ายังไง อันนี้ แทนที่จะได้รับคำตอบ อาจจะได้รับอย่างอื่นแทนได้

ต่อให้ได้เรียบเรียบคำพูดที่สวยงามพอ ที่อีกฝ่ายหนึ่งจะเต็มใจและไม่รู้สึกว่าขุ่นเคืองที่จะต้องมาตอบคำำถามเรา 

ส่วนจะพูด หรือถามออกไป ว่าอย่า่งไรนั้น  เจ้าของบล็อคคงไม่สามารถบอกได้ค่ะ เพราะเจ้าของบล็อคเป็นแบบแรก พวกที่คิด หรือสงสัย แล้วถามเลย เป็นพวก ปากไม่มีหูรูดค่ะ เอ่อ เคยมีเพื่อนชมว่า ปากเกียร์สอง สมองยังไม่สตาร์ท ด้วยนะคะ ประเภทว่า โพล่งออกมา ไม่ว่าคิดอะไรก็พูดเลย ชีวิตหวุดหวิดได้หมัดมากมายหลายครั้ง

แต่ก็ถามแต่เร่ืองไร้สาระนะคะ เรื่องมีสาระไม่ค่อยถาม เพราะว่าก็เป็นแค่คนไร้สาระคนหนึ่งเท่านั้นเอง เวลาเรียนก็นั่งหลับ ทั้งๆที่นั่งหน้านี่หละ จะถามอาจารย์ ก็กลัวว่า คนอื่นจะว่าเราโง่ไหม สงสัยอะไรเรื่องแค่นี้ ก็ด้วยแนวคิดแบบนี้ ทำให้เจ้าของบล็อค ประสงความสำเร็จในการเรียน อยู่ในขั่น ต่ำ ถึง ต่ำมากค่ะ



แต่เข้าของบล็อคก็ไม่คิดว่าจะต้องปรับปรุงนะคะ เพราะว่า สำหรับเจ้าของบล็อคแล้ว คิดแล้วพูด คือสิ่งที่จริง และจริงใจดี 

บางทีการประดิษฐ์คำพูดให้อีกฝ่ายฟัง เพื่อให้เกิดคำพูดที่สวยหรูที่สุด เพื่อให้อีกฝ่ายฟังแล้วประทับใจ อาจจะเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดก็ได้ ถ้าคำพูดสวยหรูเหล่านั้น มีแต่คำหลอกลวง 

พอดีว่าเจ้าของบล็อคอยู่ใกล้กับคนประเภทนี้ ทำให้รู้สึกว่า เจ็บตัวดีกว่าเจ็บใจ อาจจะโดนทุบหัว แต่ก็ดีกว่าโดนโกหก การพูดความจริง สุดท้ายก็คือความจริง อย่าพยายามปั้นหน้า ใส่สิ่งที่สวยงามที่สุดลงไปในชีวิต โดยปราศจากความจริงกันเลย ตรงๆกันไว้ น่าจะดีที่สุดนะคะ แล้วก็ บางทีก็อย่าไปใส่ใจกับคำพูดของทุกคนเลย คนๆนั้นไม่ได้มาเดือดร้อนกับเราด้วยเลยสักนิดเดียว

ต่อไปมาถึงนิทาน ลองอ่าน แล้วดูกันนะคะ ว่าเหมือนกับที่เจ้าของบล็อค คิดเอาไว้หรือเปล่า ถ้ายังไงก็ โต้แย้งได้ตามสบายเลยนะคะ ไม่มีผิดหรือถูกอยู่แล้ว ทุกสิ่ง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจอยู่แล้วค่ะ 






นิทานเซน : ไปตลาด
กาลครั้งหนึ่ง.......
มีวัดในพุทธศาสนาเซน ๒ วัด อยู่ไม่ห่างกันมากนัก เวลาเช้าเด็กวัดก็ต้องออกไปซื้อของในหมู่บ้าน เด็กคนหนึ่งต้องไปเอาผักในหมู่บ้าน จะต้องเดินสวนกับเด็กวัดอีกวัดหนึ่ง ไม่เว้นแต่ละวัน พอเดินสวนกัน เด็กวัดหนึ่งก็ถามเด็กอีกวัดหนึ่งว่า...
"ไปไหน ?"
"ไปยังที่ที่เท้าฉันพาไปนั่นแหละ" เด็กอีกวัดตอบ
เด็กคนแรกได้ยินคำตอบดังนั้น ก็รู้สึกทึ่ง ตอบอย่างนี้ต้องไม่ธรรมดา เป็นการแสดงภูมิทางเซน ครั้นจะพูดอะไร ก็ยังคิดไม่ทัน เดินสวนกันไปเสียก่อน เมื่อกลับถึงวัด จึงเล่าให้ อาจารย์ฟัง ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อให้อาจารย์ช่วยไขความหมายนั้น
"พรุ่งนี้ถ้าเจอก็ให้ถามอีก ถ้าเขาตอบว่า จะไปยังที่ที่เท้าพาไป ให้เจ้าถามกลับไปว่า ถ้าเธอไม่มีเท้าล่ะ จะไปที่ใด หากเจ้าถามอย่างนี้ เขาจะจนในคำตอบที่จะให้เจ้า"


เช้ารุ่งขึ้นวันต่อมา เด็กคนแรกก็ใช้คำถามเดิมตามอย่างที่ซักซ้อมไว้ โดยหวังจะต้อน เจ้าคนนั้นให้จนแต้ม
"ไปไหน ?"
"ไปยังที่ที่ลมพัดไป" เจ้าเด็กคนนั้นตอบ
พอได้ยินคำตอบเปลี่ยนไปอย่างนั้น คำถามที่อาจารย์สอนให้ ก็ใช้ไม่ได้ จึงต้องเดินสวนกันไป เมื่อกลับถึงวัดก็เล่าให้อาจารย์ฟัง
อาจารย์ได้ฟังศิษย์เล่า ก็ยิ้ม แล้วบอกว่า "พรุ่งนี้ ถามอีก ถ้าเขาบอกว่าจะไปยังที่ที่ลมพัดไป ก็ให้ถามดักว่า หากไม่มีลมล่ะ จะไปยังที่ใด ?"
รุ่งขึ้น พอเดินสวนกันอีกเด็กวัดคนแรกก็ถามขึ้นอย่างเคยว่า
"ไปไหน ?"
"ไปซื้อผัก" เด็กอีกคนตอบ