ศิษย์และอาจารย์เดินผ่านท่าน้ำริมทะเล เห็นชาวเรือกำลังจะนำเรือออกจากท่าเพื่อที่จะไปส่งผู้โดยสาร หลังจากเรือลงน้ำไปแล้ว ที่ชายหาดมี กุ้ง หอย ปู ปลา โดนทับตายเป็นจำนวนมาก ทำให้เห็นแล้ว รู้สึกน่าสงสารยิ่งนัก
ลูกศิษย์ : ขณะที่ชาวเรือนำเรือออกไปนั้น ทำให้ กุ้ง หอย ปู ปลาแถวนั้นตายไปไม่น้อย ขอถามหน่อยว่า เป็นความผิดบาปของชาวเรือหรือผู้โดยสาร
พระอาจารย์ : ไม่ได้เป็นบาปของชาวเรือ และไม่ได้เป็นบาปของผู้โดยสาร
ลูกศิษย์ : ถ้าไม่ได้เป็นบาปของทั้งสองฝ่าย แล้วจะเป็นบาปของใคร
พระอาจารย์ : ก็เป็นของเจ้านะซี
พระอาจารย์พูดต่อว่า “ พุทธศาสนาแม้จะพูดถึงวัฏสงสาร แต่ในแง่ของคน เมื่อพูดในฐานะเป็นมนุษย์ เรื่องราวบางอย่าง บางครั้งก็ไม่สามารถพูดให้ชัดแจ้งลงไปได้ ชาวเรือประกอบอาชีพนี้เพื่อหาเงินเลี้ยงปากท้อง ผู้โดยสารจำเป็นต้องขึ้นเรือ เพราะต้องเดินทาง กุ้ง ปู โดนเรือกดทับ เพราะซ่อนตัวอยู่ในทราย นี่เป็นความผิดใคร ?
กรรมเกิดจากจิต จิตไม่มี กรรมก็ไม่มี
จิตไม่มี จะสร้างกรรมได้อย่างไร
แม้จะมีบาปกรรม ก็เป็นบาปที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ
แต่เจ้า สิ่งที่ไม่มีสร้างให้มี
สร้างผิดถูกขึ้นมาเอง
แล้วนี่จะไม่ใช่ผิดบาปที่เจ้าหรอกหรือ
ที่มา : http://www.thummada.com/cgi-bin/iB315/ikonboard.pl?act=ST;f=4;t=1843;st=10
จากด้านล่างเป็นต้นไป เป็นเรื่องที่ผู้เขียนบล็อค เขียนตามความเข้าใจของตนเอง ผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
ผิดบาปเป็นของใคร นิทานเซนเรื่องนี้ ในสายตาของผู้เขียนแล้ว ค่อนข้างจะอันตรายต่อคนอ่านเป็นอย่างยิ่ง และอาจอันตรายต่อสังคม หากเพียงแต่คิดที่จะนำเรื่องที่ได้จากแนวคิดในเรื่องนี้ ว่า หากเราไม่ใส่ใจว่ามันคือบาป มันก็จะไม่เป็นบาป และย่อมไม่เกิดความทุกข์ทรมานแก่ใจได้เลยแม้แต่เล็กน้อย
หากคิดเช่นนี้แล้ว นิทานเรื่องนี้ ย่อมทำให้ผู้อ่านที่มีจิตใจหรือแนวคิดและการกระทำที่ค่อนข้างเป็นอันตรายต่อผู้อื่น สามารถกล้าทีั่จะกระทำการร้าย และหลังจากกระทำการที่เลวร้ายแล้ว ก็ยังสามารถอยู่ได้อย่างปกติสุข เพราะว่า ไม่ถือเอาการกระทำที่เลวร้ายนั้น มาใส่ใจ และไม่สนใจผลที่เกิดจากการกระทำของตนด้วย
ซึ่งหากมองที่ตรงแง่นี้แล้ว ก็ต้องบอกกันอย่างผิดหลักเซน ว่า เป็นการสรุปและทำตามอย่างโง่ๆ แถมยังเป็นกระทำที่ผิด ( เพราะเซนที่แท้จริงแล้ว ย่อมไม่มีถูกหรือผิด ทุกอย่างแล้วแต่ธรรมชาติจะทำให้เป็นไป) การที่ท่านอาจารย์ได้บอกลูกศิษย์ว่า หากมัวมาคิดว่า กุ้งหอยปูปลาที่ตายไปโดยไม่ได้นำมาใช้อาหาร จะทำให้บาป และยังเกิดความสงสัยจนทำให้อดไม่ได้ต้องถามอาจารย์ว่า บาปเหล่านั้นตกอยู่ที่ใคร
คำว่า บาป กับ ไม่บาป จากเรื่องนี้ จะถูกกั้นโดยเส้นบางๆ คือ ความคิดคำนึง เท่านั้น หากไม่คิด บาปก็จะไม่เป็นบาป และหากคิด แม้เรื่องที่ไม่ควรจะเป็นบาป ก็อาจกลายเป็นบาปได้ในที่สุด
แม้ว่าคิดได้เช่นนี้แล้ว ก็ต้องอย่าลืมที่จะเตือนตนเองอยู่เสมอว่า แม้นหากเราไม่คิดในเรื่องบางเรื่อง มันก็จะไม่กลายเป็นบาปก็จริงอยู่ แต่การวางเฉยกับการกระทำทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เกิดผลกระทบหรือความเสียหาย ต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือสังคมใดๆ ก็ย่อมกลายเป็นบาปเช่นกัน
ด้วยความเคารพ จากใจผู้เขียนที่ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากห้วงแห่งกิเลสได้