กิเลส หมายถึงความอยากทุกประเภทที่ก่อนให้เกิดตัณหาและอุปทาน
ส่วนหน้าที่ คือ สิ่งที่พึงกระทำด้วยเหตุและผล การที่คนธรรมดา หรือฆราวาสนั้นศึกษาธรรมแล้ว ก็จะต้องแยกยะฆราวาสเมื่อมาศึกษาธรรมบางอย่างก็อาจจะแลดูขัดๆกับการปฏิบัติอยู่
เพราะกาีีีรที่มีครอบครัวแล้วจะต้องมีการเสพบางอย่างที่ไม่ถูกต้องนักถือว่าเป็นเรื่องปกติของฆราวาส
แต่หากภิกษุกระทำก็จะถือว่าเป็นความผิดอย่างมหันต์โดยแท้ จึงกล่าวว่า กิเลสและหน้าที่นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
หากบางครั้งเรามีความต้องการอยากจะได้สิ่งของหรืออะไรก็ตาม ลองพิจารณาดูว่า สิ่งนั้นเป็นกิเลสหรือไม่ ทำไปเพื่ออะไร เมื่อรู้แล้วว่าเป็นเพียงความอยากของกิเลสก็อย่าได้ทำ
จงลองพิจารณาฝึกฝนตนเองให้ออกห่างจากความอยาก แล้วจะพบว่า ความเบาสบายเป็นอย่างไร หรือที่ภาษาของทางโลกนั้นเรียกว่า "ความสุข"
ตราบใดที่ฆราวาสยังคงต้องมีหน้าที่ให้ถึงซึ่งหน้าที่อย่างพร้อมทุกประการ ย่อมจะทำให้พบกับพุทธะถาวรได้ยาก
เพียงสิ่งเดียวของจุดเริ่มต้นก็คือ พยายามฝึกจิตใจคัดค้านกับกิเลส ตัณหา ที่เกินความจำเป็น โดยเริ่มจากสิ่งเล็กๆน้อยๆก่อน แล้วค่อยๆขยายวงกว้างออกไป
ไม่นานเกินไปเชื่อว่า หากคนนั้นทำอย่างจริงจัง ย่อมเห็นพุทธะถาวรอยู่เบื้องหน้า การเห็นธรรมและพุทธะ ไม่จำเป็นต้องเห็นฉับพลัน หรือว่าต้องสั่งสมต่อไปเรื่อยๆเท่านั้น
ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพร้อมเท่านั้นเพียงอย่างเดียวโดยแน่แท้
อย่างน้อยเมื่อสามารถแยกออกโดยความเข้าใจที่ถูกต้องถ่องแท้ระหว่างกิเลสและหน้าที่ เมื่อนั้นการตั้งมั่นอยู่ในธรรมจะบังเกิด
สำหรับนิทานเรื่องนี้ที่จะนำมาประกอบบล็อค คาดว่าหลายๆท่านอาจจะเคยอ่านมาแล้วนะคะ แต่อย่างไรก็ตาม อยากให้ลองอ่านกันอีกครั้งหนึ่ง เพราะแต่ละครั้ง ความคิดที่ได้จากนิทานอาจจะต่างกันไป
นี่เป็นนิทานเรื่องแรกๆเลยที่เจ้าของบล็อคได้ลองอ่านเกี่ยวกับเซนค่ะ
แบกไว้ทำไม
หลวงพ่อตันซัน เป็นพระเซ็นที่มีความแตกฉานมาก ท่านมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 100 ปีมานี่เอง ท่านเป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลในโตเกียวด้วย
วันหนึ่ง ท่านได้ชวนท่านเอกิโด เพื่อนพระภิกษุซึ่งเคร่งครัดหยุมหยิมในระเบียบแบบแผนต่างๆ ออกเดินธุดงค์ ระหว่างทาง พอมาถึงที่ต่ำเป็นแอ่งมีโคลนเฉอะแฉะ จะเดินอ้อมก็ไม่ได้
ก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่งแต่งตัวเสียสวยงาม กำลังเก้ๆ กังๆ พยายามจะเดินข้ามตรงที่แฉะ แต่ไม่กล้า เพราะกลัวเครื่องแต่งกายที่งดงามจะเปรอะเปื้อน
ก่อนที่ท่านเอกิโดจะแปลกใจที่มีหญิงสาวแต่งตัวเสียสวยงามมาเดินอยู่ในป่าคนเดียว ก็ต้องตกตะลึง เพราะเห็นท่านตันซันก้าวเดินสวบๆ เข้าไปหาหญิงผู้นั้น แล้วช้อนร่างอุ้มเดินข้ามแอ่งโคลนไป
พอพ้นก็วางลงเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งสองเดินทางต่อไปโดยไม่ได้ปริปากพูดจากัน
จนกระทั่งถึงเวลาหยุดพักค่ำวันนั้น เมื่อจัดเตรียมที่พักแล้ว ท่านเอกิโดก็หลุดปากออกมาอย่างกลั้นใจจะไม่พูดไม่ไหว เป็นเชิงสั่งสอนท่านตันซัน ว่า
"พวกเราเป็นพระ น่าจะไม่เข้าใกล้ผู้หญิงจะดีกว่า ยิ่งแตะเนื้อต้องตัวด้วยแล้วยิ่งไม่ถูกต้อง ทำไมท่านถึงทำอย่างนั้น ?"
"ผมวางเด็กสาวคนนั้นลงไปตั้งแต่ตอนเช้าแล้ว ท่านยังจะมาแบกเอาไว้จนถึงเดี๋ยวนี้อยู่อีกหรือ" หลวงพ่อตันซันโปรดเพื่อนท่าน
โดนย้อนเพียงเท่านี้ ท่านเอกิโดก็สว่างโพลงขึ้นทันที ตัวท่านก้าวพ้นตมมาเมื่อเช้านี้ แต่จิตของท่านเพิ่งจะมาข้ามพ้นในขณะนั้นนั่นเอง
ท่านละครับท่านข้ามพ้นตมหรือยัง หรือว่ากำลังสนุกลุยโคลนอยู่ ?
ที่มาต้นเรื่อง : นันทมุนี.คิดอย่างเซน:ไพลินบุ๊คเน็ต,กรุงเทพมหานคร;2546.
ที่มานิทานเซน : dharma-gateway.com/misc/misc-zen-35